แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองเป็นหญิง ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นมักจะตื่นตกใจได้ง่าย แม้ขณะเกิดเหตุจะมีแสงไฟฟ้าขนาด 20 แรงเทียนเปิดอยู่ก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าคนร้ายสวมหมวก ซึ่งย่อมทำให้การสังเกตจดจำใบหน้าของคนร้ายเป็นไปโดยไม่ง่ายนัก ทั้งการที่พยานได้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะนำตัวจำเลยมาที่เกิดเหตุว่าจำเลยเป็นคนร้าย แต่จำเลยได้ถามพยานว่าคนร้ายได้สวมเสื้อตัวที่จำเลยสวมอยู่หรือไม่ พยานตอบว่าจำไม่ได้ จึงยังเป็นที่น่าสงสัยว่าพยานจะจำหน้าคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยหรือไม่ เพราะแม้แต่เสื้อของคนร้ายซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งจับมาให้พยานทั้งสองดูหลังเกิดเหตุไม่นานนักยังจำไม่ได้ พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่ชัดแจ้งที่จะฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 83ที่แก้ไขแล้ว และให้จำเลยคืนโทรทัศน์สีและเงินสด 300 บาท ที่ชิงไป หรือใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา339 ที่แก้ไขแล้วลงโทษจำคุก 10 ปีให้จำเลยคืนโทรทัศน์สีและเงินสด 300 บาทที่ชิงไป หากไม่คืนให้ใช้ราคา 25,300 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ได้มีคนร้ายเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย แล้วชิงเอาเครื่องรับโทรทัศน์กับเงินสด 300 บาท ของผู้เสียหายไป ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยคงมีว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้หรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายและนางสาวอุไรวรรณเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าเมื่อคนร้ายเอาเครื่องรับโทรทัศน์ไปแล้วผู้เสียหายลุกขึ้นไปเปิดไฟฟ้าคนร้ายได้ย้อนกลับมาขู่และถามหาทรัพย์อีก จึงจำหน้าคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยนี้ เห็นว่าประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองเป็นหญิง ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นมักจะตื่นตกใจได้ง่าย แม้ขณะเกิดเหตุจะมีแสงไฟฟ้าขนาด 20 แรงเทียนเปิดอยู่ก็ตาม แต่คดีก็ได้ความจากประจักษ์พยานโจทก์ว่า คนร้ายสวมหมวกซึ่งย่อมทำให้การสังเกตจดจำใบหน้าของคนร้ายเป็นไปโดยไม่ง่ายนัก เมื่อได้พิจารณาถึงคำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่าพยานได้ยืนยันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะนำตัวจำเลยมาที่เกิดเหตุว่าจำเลยเป็นคนร้าย จำเลยได้ถามพยานว่าคนร้ายได้สวมเสื้อตัวที่จำเลยสวมอยู่หรือไม่ พยานตอบว่าจำไม่ได้และคำเบิกความของนางสาวอุไรวรรณที่ว่า พยานจำไม่ได้ว่าคนร้ายจะสวมเสื้อผ้าสีอะไรแล้ว คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองที่ว่าจำหน้าคนร้ายได้ว่าเป็นจำเลยจึงยังเป็นที่น่าสงสัย เพราะแม้แต่เสื้อของคนร้ายซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพิ่งจับมาให้พยานทั้งสองดูหลังเกิดเหตุไม่นานนักยังจำไม่ได้เช่นนี้ พยานทั้งสองจะจดจำหน้าคนร้ายขณะสวมหมวกอยู่ซึ่งยากกว่าการจดจำเสื้อผ้าได้อย่างไร นอกจากนี้ปรากฏว่าจำเลยถูกจับห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร แต่ไม่พบทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายชิงไป และคดียังได้ความจากคำเบิกความของสิบตำรวจโทนุกูล เปลี่ยนเคยว่า ขณะพบจำเลยเดินอยู่บนถนนสายเอเซียจำเลยมีผ้าขาวม้าพันรอบศีรษะหาได้สวมหมวกดังเช่นคนร้ายรายนี้ไม่ ในชั้นสอบสวนเมื่อจำเลยอ้างต่อสิบตำรวจโทนุกูลผู้จับกุมว่าเพิ่งกลับจากการดิ่มสุรากับเพื่อนที่ร้านร้อยเอ็ด ก็ไม่ปรากฏว่ามีการสืบหาความจริงมาหักล้างข้ออ้างของจำเลยในเรื่องนี้แต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมาจึงยังไม่ชัดแจ้งพอที่จะฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ ทั้งข้อนำสืบอ้างฐานที่อยู่ของจำเลยก็เป็นอย่างเดียวกับที่ได้เคยแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมมาตั้งแต่แรก ไม่มีพิรุธ ที่ศาลอุทธรณ์ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยโดยยกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.