คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9468/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นนายจ้างด้วยเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งฐานละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และฐานทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เกินกว่า 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 315,567,528.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 144,061,397.23 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มีสำนักงานสาขาทับเที่ยงเป็นสาขาหนึ่งของโจทก์และโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการธนาคารสาขาทับเที่ยง มีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบประเมินราคาหลักประกันอนุมัติสินเชื่อ ควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ควบคุมดูแลการจัดทำนิติกรรมให้ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบคำสั่งในคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานของโจทก์ จำเลยอนุมัติให้ลูกค้า 8 ราย กู้เบิกเงินเกินบัญชีไปโดยผิดระเบียบปฏิบัติงานของโจทก์ กล่าวคือให้กู้เงินวงเงินเกินขอบอำนาจรวมเป็นเงิน 144,061,397.23 บาท โจทก์มีคำสั่งโอนย้ายจำเลยจากตำแหน่งผู้จัดการสาขาทับเที่ยงไปดำรงตำแหน่งพนักงานฝ่ายกิจการสาขา 8 ตามคำสั่ง ธ. ที่ 5/2538 และให้ฝ่ายตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบการกระทำของจำเลยพบว่า จำเลยกระทำผิดระเบียบฝ่าฝืนคำสั่งของสำนักงานใหญ่ ทำให้โจทก์เสียหายอย่างมาก เห็นควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ซึ่งโจทก์โดยนายศิรินทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่รับทราบรายงานของฝ่ายตรวจสอบแล้วสั่งให้ดำเนินการตามเสนอและมีคำสั่งที่ ธ. 751/2538 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัย ทั้งนี้ในระหว่างสอบสวนโจทก์มีคำสั่งที่ ธ.410/2539 ให้พักงานจำเลยไว้ก่อน ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยมีความเห็นว่า จำเลยกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยผิดระเบียบ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีคำสั่งลงโทษไล่จำเลยออกจากการเป็นพนักงานของโจทก์ตามคำสั่งที่ ธ.106/2544 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นวันพักงานเป็นต้นไป กับให้จำเลยรับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายคืนโจทก์ ทั้งนี้โจทก์มีหนังสือแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบทางไปรษณีย์ตอบรับ จำเลยได้ลงชื่อรับหนังสือแล้ว โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องศาลแรงงานภาค 9 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2538 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี แล้วคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี แล้วหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง เพราะเหตุที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งฐานละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก และฐานทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ทั้งนี้วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องคือ วันที่จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหาใช่วันที่โจทก์ทราบการกระทำผิดของจำเลยหรือวันที่แจ้งคำสั่งลงโทษให้จำเลยทราบแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เกินกว่า 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน ที่ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share