แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 บัญญัติให้สหกรณ์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ข้อบังคับของโจทก์ข้อ 65 ก็มีข้อความทำนองนี้ โดยในวรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติของคณะกรรมการดำเนินการ และมติของที่ประชุมใหญ่ รวมทั้งในเรื่องการฟ้องและดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ สำหรับหนังสือมอบอำนาจของโจทก์นั้น มีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 จำนวน 15 คน เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจ เมื่อพิจารณาประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 71 พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อบังคับของโจทก์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการมอบอำนาจ ไม่ปรากฏว่าจะต้องให้กรรมการดำเนินการของโจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อเพื่อกระทำการแทนและให้มีผลผูกพันโจทก์ ดังนั้น แม้ต่อมาศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ทำให้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงมีผลอยู่ โดยตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการของ บ. ซึ่งส่งผลให้การสมัครรับเลือกตั้งของ บ. ไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย บ. ไม่มีฐานะเป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ในขณะที่ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ตนเองและหรือ ส. กรรมการดำเนินการของโจทก์อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่กรรมการดำเนินการของโจทก์ที่ยังเหลืออยู่อีก 14 คน ยังมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากที่จะดำเนินการแทนโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 71 และถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแล้ว การดำเนินการของ ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์และผู้แต่งตั้งทนายความจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ และหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง อายุความในมูลละเมิดมีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่มาตรา 74 บัญญัติว่า ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ดังนั้น กรณีละเมิดทำให้โจทก์รับความเสียหายโดยมีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 24 ของโจทก์ทั้งคณะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 ในคดีนี้ แม้จำเลยดังกล่าวจะเป็นผู้แทนของโจทก์อยู่ในขณะนั้น และได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ไม่อาจถือได้ว่าการรู้นั้นเป็นการรู้ของโจทก์แล้วอันจะทำให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 โดยต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ของโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหม่รู้ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 และได้ฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ร่วมกันหรือแทนกันกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 20 ชำระเงินจำนวน 225,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 20 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันชำระเงินจำนวน 58,067.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 และจำเลยที่ 12 ถึงที่ 20 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องร้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คำพิพากษาของศาลปกครองขอนแก่นที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนซึ่งมีผลให้การที่นางบุปผา สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ไม่ทำให้หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ซึ่งนางบุปผาร่วมลงลายมือชื่อ ต้องสิ้นผลบังคับไปด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 37 บัญญัติให้สหกรณ์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็น ผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ข้อบังคับของโจทก์ในข้อ 65 ก็มีข้อความทำนองเดียวกันนี้ โดยข้อบังคับข้อ 65 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติของคณะกรรมการดำเนินการ และมติของที่ประชุมใหญ่ รวมทั้งใน (17) เรื่องการฟ้องและดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์สำหรับหนังสือมอบอำนาจของโจทก์นั้น มีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 จำนวน 15 คน ตามคำสั่งสหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำกัด ที่ 17/2547 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจ เมื่อพิจารณาประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 71 ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่นิติบุคคลมีผู้แทนหลายคน การดำเนินกิจการของนิติบุคคลให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้แทนนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในกฎหมาย ข้อบังคับ หรือตราสารจัดตั้ง เมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อบังคับของโจทก์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการมอบอำนาจไม่ปรากฏว่า จะต้องให้กรรมการดำเนินการของโจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อเพื่อกระทำการแทนและให้มีผลผูกพันโจทก์ ดังนั้น แม้ต่อมาศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่นตามหนังสือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ที่ ขก 0010/022 ลงวันที่ 22 เมษายน 2547 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่มีหนังสือดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ทำให้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งฉบับที่ 9/2547 ยังคงมีผลอยู่โดยตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการของนางบุปผา ซึ่งส่งผลให้การสมัครรับเลือกตั้งของนางบุปผาไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย นางบุปผาไม่มีฐานะเป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ในขณะที่ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ตนเองและหรือนายสมเกียรติ กรรมการดำเนินการของโจทก์อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจดำเนินคดีนี้ก็ตาม แต่กรรมการดำเนินการของโจทก์ที่ยังเหลืออยู่อีก 14 คน ยังมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากที่จะดำเนินการแทนโจทก์ได้ตามมาตรา 71 ดังกล่าว และเนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนคดีว่านายสมเกียรติเป็นผู้ลงลายมือแต่งตั้งทนายความดำเนินคดีนี้ ดังนั้น การดำเนินการของนายสมเกียรติในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์และผู้แต่งตั้งทนายความจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับและหนังสือมอบอำนาจของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
แม้ปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 และที่ 12 ถึงที่ 15 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 9 ที่ 16 และที่ 17 และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 18 ถึงที่ 20 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี หรือไม่ และจำเลยผู้อุทธรณ์ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เพียงใด ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานกันมาจนพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลฎีกาเห็น สมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยก่อน สำหรับปัญหาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี หรือไม่ จำเลยดังกล่าวอุทธรณ์ทำนองเดียวกันว่า วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 เป็นวันที่โจทก์รู้เหตุแห่งความเสียหายเพราะพนักงานสอบสวนเข้าตรวจค้นสำนักงานของโจทก์ และได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 24 ของโจทก์ซึ่งถูกฟ้องเป็นคดีนี้ เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ เห็นว่า ความรับผิดของคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ 68 ที่กำหนดว่า ถ้าคณะกรรมการดำเนินการกระทำหรืองดเว้นกระทำการหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก…คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 74 บัญญัติว่า ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ดังนั้น กรณีละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยมีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 24 ของโจทก์ ทั้งคณะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 ในคดีนี้ แม้จำเลยดังกล่าวจะเป็นผู้แทนของโจทก์อยู่ในขณะนั้น และได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ไม่อาจถือได้ว่าการรู้นั้นเป็นการรู้ของโจทก์แล้วอันจะทำให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 โดยต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ของโจทก์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ชุดใหม่รู้ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ของโจทก์ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 และได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 และที่ 12 ถึงที่ 15 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 9 ที่ 16 และที่ 17 และอุทธรณ์ของจำเลยที่ 18 ถึงที่ 20 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาว่า จำเลยทั้งยี่สิบจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า การนำโฉนดที่ดินเลขที่ 157167 ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้พิเศษของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ออกไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและขายให้แก่นายสำราญโดยขณะนั้นหนี้เงินกู้พิเศษของจำเลยที่ 1 ยังชำระไม่ครบถ้วน เป็นการทำให้หนี้เงินกู้พิเศษของจำเลยที่ 1 ไม่มีที่ดินเป็นหลักประกัน ซึ่งขัดต่อระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยการให้สหกรณ์ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ถือปฏิบัติในเรื่องการให้เงินกู้แก่สมาชิก พ.ศ.2542 ข้อ 4 ที่ห้ามมิให้ใช้บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้พิเศษโดยเด็ดขาด การกระทำดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนความรับผิดในความเสียหายต่อโจทก์นั้น ข้อบังคับของโจทก์ข้อ 68 กำหนดความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการไว้ว่า ถ้ากรรมการดำเนินการสหกรณ์กระทำหรืองดเว้นกระทำการหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงินการบัญชีหรือกิจการหรือฐานะการเงินตามรายงานการสอบบัญชีหรือรายงานการตรวจสอบเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์ นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนแห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับแก่ความเกี่ยวพันระหว่างนิติบุคคลกับผู้แทนของนิติบุคคล จำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 เป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ จึงเป็นผู้แทนของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 เมื่อการกระทำดังกล่าวข้างต้นทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 เป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์และเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับข้อ 68 ของโจทก์และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 812 ส่วนจำเลยที่ 18 เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ 19 และที่ 20 เป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อของโจทก์มีหน้าที่จัดทำและตรวจสอบเอกสารก่อนนำเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาอนุมัติซึ่งย่อมทราบระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ที่ห้ามมิให้ใช้บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้พิเศษโดยเด็ดขาดเป็นอย่างดี แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบอย่างเคร่งครัดเป็นเหตุให้โจทก์รับความเสียหาย จำเลยที่ 18 ถึงที่ 20 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2546 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไถ่ถอนและขายที่ดินโฉนดเลขที่ 157167 ซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้พิเศษแก่โจทก์ โดยขณะนั้นจำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้เงินกู้พิเศษให้แก่โจทก์ไม่ครบถ้วน การกระทำดังกล่าวทำให้หนี้เงินกู้พิเศษที่มีต่อโจทก์ไม่มีที่ดินเป็นหลักประกัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ด้วย ส่วนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งยี่สิบร่วมกันรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์นั้นเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2546 อันเป็นวันทำละเมิดเกินไปจากที่โจทก์มีคำขอดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีเพียงจำนวนต้นเงินและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นคำนวณถึงวันฟ้อง แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ตามคำฟ้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์ พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ดอกเบี้ยให้นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ธันวาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ