แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ธ. พยานโจทก์มิได้เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงิน ทั้งโจทก์มิได้นำผู้ที่รู้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเบิกความต่อศาลที่โจทก์อ้างเหตุในชั้นฎีกาว่า พนักงานสาขาของโจทก์ผู้ที่รู้เห็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ ย่อมต้องบอกเล่าให้ ธ.ทราบโดยละเอียดแม้ธ. จะมารับตำแหน่งภายหลังการทำสัญญา ก็ย่อมทราบได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของธนาคารนั้นเป็นเพียงการคาดเดาของโจทก์ที่อ้างขึ้นในชั้นฎีกาโดย ธ. มิได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเลยคำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักน้อย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาปราศจากน้ำหนักฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินตามฟ้องเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ดังนี้ เมื่อโจทก์สืบไม่สมฟ้องและจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามในสัญญากู้เงินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันชำระหนี้243,639.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน130,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระให้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระให้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้ท้ายฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินจากโจทก์ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.3พร้อมทั้งดอกเบี้ยของเงินจำนวนดังกล่าวหรือไม่ โจทก์มีนายธรรมนูญสมบูรณ์สิน ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เพียงปากเดียวมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบเอกสารอ้างว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์และทำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 ไว้เป็นหลักฐาน โดยจำเลยที่ 2เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 ทั้งยังจำนองที่ดินไว้เป็นประกันด้วย ปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนองเป็นประกัน เอกสารหมาย จ.6 แต่นายธรรมนูญพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า “ข้าฯ มาทำงานในตำแหน่งผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขากุมภวาปี เมื่อเดือนตุลาคม2530 สัญญากู้ สัญญาจำนองทำก่อนที่ข้าฯ มาทำงานที่สาขากุมภวาปี”และอีกตอนหนึ่งว่า “ผู้กู้จะต้องมาลงลายมือชื่อในสัญญากู้ต่อหน้าพนักงานธนาคารที่ธนาคารเท่านั้น” แสดงว่านายธรรมนูญ พยานโจทก์มิได้เป็นประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3 ทั้งโจทก์มิได้นำผู้ที่รู้เห็นข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเบิกความต่อศาลที่โจทก์อ้างเหตุในชั้นฎีกาว่าพนักงานของโจทก์สาขากุมภวาปีผู้ที่รู้เห็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เข้าทำสัญญากับโจทก์ย่อมต้องบอกเล่าให้นายธรรมนูญ ทราบโดยละเอียดแม้นายธรรมนูญจะมารับตำแหน่งภายหลังการทำสัญญาตามเอกสารหมาย จ.3 ก็ย่อมทราบได้อย่างแน่ชัดว่า จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.3 ต่อหน้าพนักงานของธนาคารนั้น เป็นเพียงการคาดเดาของโจทก์ที่อ้างขึ้นในชั้นฎีกา โดยนายธรรมนูญมิได้เบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวเลย คำเบิกความของพยานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังให้การและนำสืบพยานบุคคลประกอบพยานเอกสารว่าลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3เป็นลายมือชื่อปลอม ศาลฎีกาตรวจเปรียบเทียมลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 กับลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ที่ลงไว้ในใบแต่งทนายก็ดี ลงไว้ท้ายคำเบิกความรวมทั้งรายงานกระบวนพิจารณาคดีนี้ และที่อ้างส่งประกอบคำให้การเอกสารหมาย ล.1 รวมตลอดไปจนถึงที่ปรากฏในสำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการและบัตรอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 รวม 3 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.4.และลายมือชื่อที่ลงไว้เป็นหลักฐานในการรับเงินเดือนตามสำเนาภาพถ่ายบัญชีเงินเดือนเอกสารหมาย ล.5 ปรากฏว่าลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆที่จำเลยที่ 1 อ้างรวมทั้งที่ศาลฎีกาสามารถตรวจเปรียบเทียมกับที่ปรากฏต่อศาลในสำนวนคดีนี้ล้วนมีลักษณะและลีลาการเขียนเป็นอย่างเดียวกันมีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1แต่กลับแตกต่างไปจากลายมือชื่อผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.3ที่โจทก์อ้างโดยสิ้นเชิง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาปราศจากน้ำหนักจึงฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้กู้ในสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 โจทก์สืบไม่สมฟ้องจำเลยที่ 1 หาต้องรับผิดต่อโจทก์ตามในสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่เมื่อไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นเดียวกัน
พิพากษายืน