คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหาโกงเจ้าหนี้ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การโอนขายที่ดินยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยทุจริตที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ พิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 22 ประกอบกับ พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ.2520 มาตรา 3 โจทก์อุทธรณ์ว่า จากพยานหลักฐานโจทก์ข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่าจำเลยโอนขายที่ดินไปโดยเจตนาทุจริตเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ตามอุทธรณ์ของโจทก์ จึงเป็นการมิชอบต้องถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่จำเลยโอนขายที่ดินดังกล่าว ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำไปโดยสุจริตที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503 มาตรา 10 ประกอบกับพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดพ.ศ. 2520 มาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2503มาตรา 3 โจทก์อุทธรณ์สรุปความได้ว่าจากพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยโอนขายที่ดินทั้งสามแปลงไปโดยเจตนาทุจริตเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ตามอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการมิชอบ และต้องถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาโจทก์

Share