คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา30, 31 ได้บัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ ผู้เสียหายสำหรับคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายด้วยกัน มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ สิทธิการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา นอกจากสองกรณีดังกล่าวนี้แล้วย่อมไม่อาจมีได้ดังนั้น ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายคนหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้
แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ 2 ที่ 3 เข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้ว แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่มีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ในคดีนี้คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ที่ 2 ที่ 3 จึงมิใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีต่อมาได้
ปัญหาเกี่ยวกับการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทสระแก้วเมืองทอง จำกัด จำเลยที่ ๑ เป็นผู้จัดการ และจำเลยที่ ๒ เป็นเหรัญญิกของบริษัทดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินของบริษัทไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษ
ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องนายยิ่งเที่ยง แซ่เจีย กับนางซิ้วเองหรือนางสาวซั่วเอง แซ่เตี๋ย ผู้ถือหุ้นของบริษัทสระแก้วเมืองทอง จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ในคดีเดิม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต โดยให้เรียกเป็นโจทก์ที่ ๒ และโจทก์ที่ ๓ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา โจทก์ที่ ๑ ขอถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน แต่โจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ ๑ ถอนฟ้องได้และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นควรวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่า โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ในคดีเดิมนี้หรือไม่ เพราะปัญหาเกี่ยวกับการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๐ บัญญัติว่า “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา ๓๑ บัญญัติว่า “คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้” จากบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และกรณีที่พนักงานอัยการร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายสำหรับคดีที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายด้วยกัน มิได้มีกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ สิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญา นอกจากสองกรณีตามมาตรา ๓๐, ๓๑ นี้แล้วย่อมไม่อาจมีได้ ดังนั้น ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องคดีไว้ก่อนแล้ว ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งไม่อาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ จึงไม่มีสิทธิร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับโจทก์ในคดีนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ จึงมิใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีต่อมาได้
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ที่ ๒ ที่ ๓ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาโจทก์ที่ ๒ ที่ ๓.

Share