คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 608/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ ท.เป็นลูกจ้างจำเลย.จำเลยให้ท. ออกจากงาน ท.ตาย.โจทก์ซึ่งเป็นภรรยาและบุตรของท. ฟ้อง เรียกค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างจากจำเลยตามกฎหมายแรงงานนั้นจะต้องนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับ
การที่จำเลยมีคำสั่งให้ ท. ออกจากงานโดยในข้อความตอนต้นของคำสั่งกล่าวถึงกรณีที่ ท. กระทำผิดวินัยขาดงาน และแจ้งลาป่วยผิดระเบียบ หากอยู่ต่อไปก็จะเกิดการเสียหายแก่งาน จึงให้ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถในอันจะปฏิบัติหน้าที่ของตน ดังนี้คำสั่งในตอนต้นเป็นเพียงพฤติการณ์แสดงให้เห็นถึงความประพฤติของ ท. ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถ คำสั่งให้ออกจากงานของจำเลยดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ออกเพราะกระทำผิดระเบียบและวินัยโดยฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายทองอยู่เป็นสามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาของโจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ. 2497 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2523 จำเลยได้เลิกจ้างนายทองอยู่อ้างว่าหย่อนความสามารถและไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ก่อนเลิกจ้างนายทองอยู่ได้ค่าจ้างอัตราเดือนละ 2,285 บาท นายทองอยู่ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2523 ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 13,710 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยให้สามีโจทก์ออกจากงาน เพราะถือว่าหย่อนความสามารถในอันจะปฏิบัติหน้าที่การงาน กล่าวคือสามีโจทก์ได้กระทำผิดวินัยฐานขาดงานและแจ้งป่วยผิดระเบียบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518ถึงวันที่จำเลยมีคำสั่งให้สามีโจทก์ออกจากงานรวม 11 ครั้ง แต่ละครั้งจำเลยได้ลงโทษทางวินัยและตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร จนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 9 ธันวาคม 2522 สามีโจทก์ขาดงานไปอีกรวม 10 วัน ซึ่งเป็นการขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่มีใบรับรองแพทย์มาประกอบการลาขาดงานครั้งสุดท้ายนี้ จำเลยยังมิได้พิจารณาโทษทางวินัยหรือตักเตือนสามีโจทก์ดังที่เคยปฏิบัติ แต่จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบในลักษณะอย่างเดียวกันหลายครั้งเป็นการไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่และไม่เต็มใจจะปฏิบัติงานให้กับจำเลย แม้จะพิจารณาโทษเพิ่มขึ้นสักเพียงใดก็ไม่อาจแก้ไขได้ หากจะให้ปฏิบัติงานต่อไปอีกก็จะทำให้เกิดความเสียหายไม่มีที่สิ้นสุด จำเลยจึงให้สามีโจทก์ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับที่ 150 ข้อ 10, 10.3 ลงวันที่ 1ตุลาคม 2518 และคำสั่งทั่วไปที่ บภบ.159/2522 ลงวันที่ 12 ธันวาคม2522 ข้อ 2 ก. การกระทำของสามีโจทก์ข้างต้นถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว และถือว่าสามีโจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน โดยให้ศาลวินิจฉัยคดีตามคำฟ้องคำให้การประกอบเอกสารที่จำเลยส่งศาล

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 มีอำนาจฟ้องคดีแทนเฉพาะนางสาวสมพรและนายสัมฤทธิผู้เยาว์เท่านั้น ส่วนนายไพโรจน์และนายไพบูลย์บรรลุนิติภาวะแล้วไม่มีอำนาจฟ้องแทน นายทองอยู่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วคงฝ่าฝืนอีก จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิพากษายกฟ้อง

ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งมีความเห็นแย้ง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน ประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่านายทองอยู่เป็นสามีของโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาของโจทก์ที่ 2 นายทองอยู่เป็นลูกจ้างของจำเลย ครั้งสุดท้ายมีตำแหน่งเป็นพนักงานรถพ่วงได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,285 บาท จำเลยเลิกจ้างนายทองอยู่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2523 อ้างเหตุว่า หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของตนโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้

ปัญหามีว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างนายทองอยู่หรือไม่

วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าจะนำกฎหมายแรงงานมาบังคับใช้ในกรณีของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่านายทองอยู่เป็นลูกจ้างจำเลยฟ้องเรียกค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามกฎหมายแรงงาน จึงต้องนำกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาใช้บังคับ สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีที่เลิกจ้างนายทองอยู่หรือไม่นั้น ตามคำสั่งเฉพาะที่ พ.1/นท.1/0839/2523 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2523 ระบุให้นายทองอยู่ ออกจากงานฐานหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของตน ทั้งนี้อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับ ฉบับที่ 150 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง ถอดถอนของพนักงานรถไฟแห่งประเทศไทย ข้อ 10 และ10.3 ซึ่งจำเลยมีอำนาจทำได้ คำสั่งมิได้ระบุให้ออกจากงานซึ่งเป็นการเลิกจ้างเพราะกระทำฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน คือ ระเบียบเกี่ยวกับการลาของพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2507 แม้ข้อความตอนต้นของคำสั่งจะได้กล่าวถึงกรณีนายทองอยู่ กระทำผิดวินัยฐานขาดงานและแจ้งป่วยผิดระเบียบอยู่ด้วยก็เป็นเพียงพฤติการณ์แสดงให้เห็นถึงความประพฤติของนายทองอยู่ลูกจ้างที่ไม่เอาใจใส่ต่อการปฏิบัติหน้าที่การงานเท่านั้น หากให้อยู่ปฏิบัติงานต่อไปก็จะเกิดการเสียหายแก่งาน ประกอบทั้งทุกครั้งที่นายทองอยู่กระทำผิดระเบียบและวินัยฐานขาดงานและแจ้งป่วยผิดระเบียบในการพิจารณาลงโทษคงลงโทษเพียงตัดเงินเดือนอย่างเดียว ฉะนั้น การที่จำเลยมีคำสั่งให้นายทองอยู่ออกจากงานจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการให้ออกเพราะกระทำผิดระเบียบและวินัยโดยฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามข้อ 47(3) แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ตามคำขอท้ายฟ้อง

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ 13,710 บาท

Share