คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5582/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ขอให้รับฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีเหตุสมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา จึงรับฎีกาของจำเลยสำเนาให้โจทก์” นั้น ยังถือไม่ได้ว่าได้อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะคำสั่งดังกล่าวมิได้มีข้อความใดที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๘๓ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงิน ๑,๔๘๑,๕๐๐ บาทให้แก่นายอยู่ วงษ์ดี กับพวกรวม ๗๑ คน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๒ หลบหนี ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓,๘๓ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๕ ปี ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๑,๔๘๑,๕๐๐ บาท แก่ผู้เสียหายตามบัญชีรายชื่อและจำนวนเงินท้ายฟ้อง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่า ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องซึ่งจำเลยที่ ๑ ขอให้รับรองให้จำเลยที่ ๑ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมีคำสั่งในฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยมีเหตุสมควรที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา จึงรับฎีกาของจำเลย สำเนาให้โจทก์” เห็นได้ว่าคำสั่งดังกล่าวมิได้มีข้อความใดที่แสดงว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ ฎีกา กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษานั้นได้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงให้ไม่ได้
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ ๑

Share