แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ระบุในฟ้องว่าเหตุเกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอคีรีรัฐนิคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีและตำบลดอนยางอำเภอปะทิวจังหวัดชุมพรเมื่อได้ปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม (ฉบับที่2) พ.ศ.2510 ซึ่งกำหนดไม้ชาเรียน หรือทุเรียนป่าเป็นไม้หวงห้าม ณ ที่ว่าการอำเภอปะทิวและที่ทำการกำนันตำบลดอนยาง อันเป็นที่เกิดเหตุแห่งหนึ่งแล้ว ถือได้ว่าได้มีการปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามดังกล่าวในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา5 แล้ว
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 สองสำนวนในความผิดต่างกรรมกันศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณา มิใช่กรณีศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยอีกในการกระทำอันเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฟ้องซ้ำ.
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่าจำเลยได้ร่วมกันมีไม้ชาเรียนหรือทุเรียนป่า 7 ท่อน รวมปริมาตร 13.46 ลูกบาศก์เมตร และ 8ท่อน รวมปริมาตร 17.82 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของและครอบครองร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2ใช้รถยนต์สิบล้อบรรทุกไม้หวงห้ามดังกล่าวพาเคลื่อนที่ไปให้พ้นเขตอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อไปยังกรุงเทพมหานคร โดยรู้อยู่แล้วว่าไม้ดังกล่าวเป็นไม้ที่จำเลยที่ 3 ได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484เหตุเกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานีและตำบลดอนยาง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เกี่ยวพันกันขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69, 70, 74, 74จัตวา ฯลฯ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69, 70, 74 ฯลฯ จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 คนละ1 ปี ส่วนจำเลยที่ 3 กระทำผิดต่างกรรมกัน ให้จำคุกกระทงละ 1 ปีรวม 2 กระทง จำคุก 2 ปี ริบไม้ของกลาง คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดตามฟ้องแล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยทั้งสามแก้ฎีกาว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2510 ซึ่งกำหนดไม้ชาเรียนหรือทุเรียนป่าเป็นไม้หวงห้ามนั้น ไม่ปรากฏว่าได้มีการปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนันหรือที่สาธารณสถาน จึงลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 5 บัญญัติว่า ‘พระราชกฤษฎีกาหรือประกาศรัฐมนตรีซึ่งกำหนดขึ้นตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ให้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการกำนันหรือที่สาธารณสถานในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้อง’ แม้ไม่ปรากฏว่า ได้คัดสำเนาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวปิดไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการกำนันหรือที่สาธารณสถานในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ได้ความจากนายสมบุญ หัสไทย ซึ่งเป็นกำนันตำบลดอนยาง อำเภอปะทิวว่าได้ปิดสำเนาพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอปะทิวที่ทำการกำนันตำบลดอนยาง และที่ทำการกำนันตำบลอื่นในท้องที่อำเภอปะทิวแล้ว เห็นว่า คดีนี้โจทก์ระบุในฟ้องว่า เหตุเกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัดอำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานีและตำบลดอนยาง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เมื่อได้ปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามดังกล่าว ณ ที่ว่าการอำเภอปะทิว และที่ทำการกำนันตำบลดอนยาง อันเป็นท้องที่เกิดเหตุ แห่งหนึ่งแล้วก็ถือได้ว่าได้มีการปิดประกาศสำเนาพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามดังกล่าวในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้อง ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ที่จำเลยทั้งสามแก้ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้เป็นคดีเดียวกัน ไม้ของกลางเป็นไม้รายเดียวกัน นำมาจากสถานที่เดียวกันจึงถือเป็นคดีเดียวกัน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3ทั้งสองสำนวนจึงเป็นฟ้องซ้ำกัน เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3สองสำนวนในความผิดต่างกรรมกันศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณา มิใช่กรณีศาลพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องจำเลยอีกในการกระทำอันเดียวกันจึงถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องซ้ำ ฯลฯ
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยทั้งสามไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.