แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ อ. ประธานกรรมการบริษัทจำเลยแต่ผู้เดียวทำหนังสือมอบอำนาจให้ ว. กรรมการบริหารมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยอันเป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยก็ตาม แต่หลังจาก ว. ได้ยื่นคำให้การต่อศาลแล้ว จำเลยก็ทำหนังสือมอบอำนาจใหม่ให้ ฉ.เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโดยอ.และว. ลงชื่อถูกต้องตามข้อบังคับของจำเลยเช่นนี้ การที่ ฉ. ดำเนินคดีต่อมาโดยนำสืบพยานไปตามคำให้การที่ ว. ต่อสู้คดีไว้ ถือได้ว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันยอมรับคำให้การดังกล่าวจึงมีสิทธินำสืบพยานไปตามคำให้การนั้นได้
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับบัญชีระบุพยานของจำเลยว่า’รับ 5 อันดับ’ แสดงว่าได้ใช้ดุลพินิจสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ยื่นฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแล้ว.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยให้การว่าโจทก์หยุดงานโดยไม่มีสาเหตุและไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ได้เลิกจ้างโจทก์ โจทก์ขาดงานเกินกว่า 3 วัน ติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์โจทก์เฉพาะข้อ 2.2 อุทธรณ์ข้อ 2.1 และข้อ 3 มีคำสั่งไม่รับ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับอุทธรณ์โจทก์ข้อ 2.1 ด้วย ส่วนข้อ 3 ไม่รับ
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ที่โจทก์อุทธรณ์…ว่า หนังสือมอบอำนาจของบริษัทจำเลยที่มอบอำนาจให้คุณหญิงวรรณีวิทยะสิรินันท์ มีอำนาจทำการแทนจำเลยได้ลงลายมือชื่อนายอุดมวิทยะสิรินันท์ ประธานกรรมการเพียงคนเดียวไม่มีกรรมการอื่นอีกหนึ่งคนลงลายมือชื่อร่วมด้วยจึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับของจำเลย คำให้การของจำเลยที่กระทำไปโดยคุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบจำเลยไม่มีสิทธิที่จะนำสืบพยานไปตามคำให้การดังกล่าวได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจฉบับที่นายอุดม วิทยะสิรินันท์ ประธานกรรมการบริษัทจำเลยที่มอบอำนาจให้คุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ กรรมการบริหารมีอำนาจกระทำการแทนได้จะไม่มีกรรมการอีกคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมด้วยอันเป็นการไม่ถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยก็ตาม แต่การที่คุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ ได้ยื่นคำให้การไว้แล้วต่อมาบริษัทจำเลยได้ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับลงวันที่ 16มิถุนายน 2529 มอบอำนาจให้ร้อยตำรวจโทเฉิดโฉม จันทรเวคิน เป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทนโดยมีคุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ กรรมการบริหารลงลายมือชื่อร่วมกับนายอุดม วิทยะสิรินันท์ ประธานกรรมการถูกต้องตามข้อบังคับของบริษัทจำเลยและผู้รับมอบอำนาจได้ดำเนินคดีต่อมาโดยนำสืบพยานไปตามคำให้การที่คุณหญิงวรรณีวิทยะสิรินันท์ ต่อสู้คดีไว้ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ให้สัตยาบันยอมรับคำให้การดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงมีสิทธินำสืบพยานไปตามคำให้การนั้นได้โดยชอบ
ที่โจทก์อุทธรณ์…ว่าจำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลแรงงานกลางก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน อันเป็นการขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณา พยานที่จำเลยนำสืบจึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานได้นั้น พิเคราะห์แล้วได้ความว่า เมื่อศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทนี้แล้ว ได้กำหนดให้โจทก์นำสืบก่อนแล้วให้จำเลยสืบแก้และกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 27 มิถุนายน 2529 เวลา 9 นาฬิกา เฉพาะโจทก์เท่านั้นที่ยื่นบัญชีระบุพยาน จำเลยหาได้ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ ครั้นถึงวันนัดดังกล่าว โจทก์ได้นำพยานเข้าสืบเสร็จในวันนั้นแล้วศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 14 กรกฎาคม 2529 เวลา 9 นาฬิกาต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2529 จำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานรวม 5อันดับ เป็นพยานบุคคล 2 อันดับ ที่เหลือเป็นพยานเอกสาร โดยเฉพาะพยานอันดับที่ 3 ซึ่งเป็นพยานเอกสารนั้น จำเลยเคยแนบสำเนาที่เป็นภาพถ่ายไว้ท้ายคำให้การแล้ว ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า’รับ 5 อันดับ’ ซึ่งต่อมาจำเลยได้นำสืบพยานไปตามบัญชีระบุพยานดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับบัญชีระบุพยานของจำเลยว่า ‘รับ 5 อันดับ’ นั้น แสดงว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ยื่นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เพราะเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานของจำเลยอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 แล้วต้องถือว่าจำเลยได้ยื่นบัญชีระบุพยานโดยชอบและศาลแรงงานกลางมีอำนาจที่จะรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวของจำเลยได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน’.