คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8421/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องที่ 2 มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 กรณีผู้ร้องที่ 2 จึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหมือนผู้ร้องที่ 3 ที่เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นบิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 1 ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ร้องที่ 1 และเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาซึ่งเป็นผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคแรกด้วย ผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสองในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 และเรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 57, 75, 76, 92, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 276, 309, 310, 319 ริบขวดยาแก้ไอ 1 ขวด และซองบรรจุผงเครื่องดื่ม ยี่ห้อ NESTEA 2 ซอง ของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองและเสพพืชกระท่อมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวปรีญากมล ผู้เสียหายที่ 1 นายวิระเดช ผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวพเยาว์ ผู้เสียหายที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสามคนละ 100,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามไม่ให้การในคดีส่วนแพ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก, 319 วรรคแรก พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 57, 76 วรรคสอง, 92 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย จำคุกคนละ 3 ปี ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นและฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 20 ปี ฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานเสพพืชกระท่อม จำคุกคนละ 1 เดือน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองและฐานเสพพืชกระท่อม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 1 เดือน ฐานเสพพืชกระท่อม จำคุกคนละ 15 วัน รวมจำคุก 23 ปี 1 เดือน 15 วัน ริบขวดยาแก้ไอ 1 ขวด ซองบรรจุผงเครื่องดื่ม ยี่ห้อ NESTEA 2 ซอง ของกลาง ให้จำเลยทั้งสามชำระค่าสินไหมทดแทนคนละ 80,000 บาท แก่ผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดนับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 17 สิงหาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธหรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ส่วนความผิดฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองและฐานเสพพืชกระท่อม ไม่ลงโทษจำคุก แต่ให้ลงโทษปรับสถานเดียว ฐานร่วมกันมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครอง ปรับคนละ 2,000 บาท ฐานเสพพืชกระท่อม ปรับคนละ 1,000 บาท รวมปรับคนละ 3,000 บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับคนละ 1,500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร ฐานร่วมกันข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยว กักขังผู้อื่น โดยใช้อาวุธและฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ปัญหานี้ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า นางสาวปรีญากมล ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 15 ปี 9 เดือน เป็นบุตรของนายวิระเดช ผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวพเยาว์ ผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งอยู่กินเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 ไปหาจำเลยที่ 1 ที่บ้านเกิดเหตุ ระหว่างนั้นจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีก 3 คน มาที่บ้านเกิดเหตุ ต่อมามีผู้แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจเนื่องจากได้ยินเสียงร้องขอความช่วยเหลือจากบ้านเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจจึงมาที่บ้านเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามกับพวกวิ่งหลบหนีไปทางหลังบ้าน เจ้าพนักงานตำรวจพบผู้เสียหายที่ 1 และส่งตัวผู้เสียหายที่ 1 ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน เห็นว่า โจทก์นำสืบยืนยันว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกจำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราที่บ้านเกิดเหตุ โดยมีผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันในข้อนี้ว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากบ้านคนรักของนางสาวสุดารัตน์ เพื่อเที่ยวนั้น จำเลยที่ 1 ได้โทรศัพท์มาหาบอกว่าจะพาไปเที่ยว และนัดพบกันที่บริเวณสะพาน จากนั้นจำเลยที่ 1 พามาที่บ้านเกิดเหตุ โดยผู้เสียหายที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ตามรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 พาเข้าไปในบ้านเกิดเหตุซึ่งขณะนั้นไม่มีใครอยู่และนั่งดูโทรทัศน์กัน จากนั้นประมาณ 15 นาที มีเพื่อนจำเลยที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุหลายคน และร่วมกันดื่มน้ำต้มพืชกระท่อมกันที่หลังบ้านเกิดเหตุ ต่อมาไม่นานผู้เสียหายที่ 1 ขอตัวกลับ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้กลับและใช้มีดจี้ที่คอ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ามาช่วยกันจับมือและเท้า จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ถอดกางเกงของผู้เสียหายที่ 1 แล้วข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 1 ร้องขอความช่วยเหลือ จำเลยที่ 1 นำหมอนซึ่งอยู่บริเวณใกล้ ๆ มาปิดปากของผู้เสียหายที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราเสร็จได้มาช่วยจับมือและเท้าผู้เสียหายที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ข่มขืนกระทำชำเราต่อ เมื่อจำเลยที่ 3 ข่มขืนกระทำชำเราเสร็จได้ช่วยจับมือและเท้าให้จำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราต่อ จำเลยทั้งสามข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 นานประมาณคนละ 5 นาที ขณะที่จำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราอยู่นั้น มีพวกจำเลยทั้งสามบางคนยืนดูอยู่ด้วยและเมื่อจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราเสร็จพวกของจำเลยทั้งสามจะเข้ามาข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ขอร้องห้ามไว้ พวกจำเลยทั้งสามที่เหลือจึงไม่ข่มขืนกระทำชำเรา หลังจากจำเลยที่ 2 ข่มขืนกระทำชำเราเสร็จประมาณ 15 นาที มีเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาที่บ้านเกิดเหตุ จำเลยทั้งสามกับพวกวิ่งหนีออกไป ผู้เสียหายที่ 1 ได้แจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจขณะนั้นว่าถูกจำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนกระทำชำเรา เจ้าพนักงานตำรวจจึงพาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลเชียรใหญ่ ซึ่งคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 มีรายละเอียดข้อเท็จจริงเป็นลำดับขั้นตอนสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนที่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ปากคำไว้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกระทำความผิดตามที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความมาจริง ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อระแวงสงสัย ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทั้งสามนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อย่างไรก็ดี จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุ แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยว กักขังผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านเกิดเหตุและจำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันจนสำเร็จความใคร่คนละ 1 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในทางนำสืบโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์พูดคุยนัดหมายและพาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการชักชวนผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุอย่างไร จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงหามีความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดากับจำเลยที่ 1 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไม่ ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในความผิดฐานนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โทรศัพท์นัดผู้เสียหายที่ 1 ให้มาพบและพาผู้เสียหายที่ 1 มาที่บ้านเกิดเหตุ ขณะผู้เสียหายที่ 1 อยู่ที่บ้านเกิดเหตุจำเลยทั้งสามร่วมกันโดยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธข่มขู่บังคับผู้เสียหายที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โดยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันจนสำเร็จความใคร่คนละ 1 ครั้ง เมื่อคดีฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดแก่ผู้ร้องทั้งสาม (ผู้เสียหายทั้งสาม) จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดดังกล่าว แม้ผู้ร้องที่ 2 (ผู้เสียหายที่ 2) มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องที่ 1 (ผู้เสียหายที่ 1) กรณีผู้ร้องที่ 2 จึงมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองของผู้ร้องที่ 1 (ผู้เสียหายที่ 1) ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เหมือนผู้ร้องที่ 3 (ผู้เสียหายที่ 3) ที่เป็นมารดาชอบด้วยกฎหมายอันเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องที่ 2 เป็นบิดาที่แท้จริงของผู้ร้องที่ 1 ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 อยู่ในฐานะผู้ดูแลผู้ร้องที่ 1 และเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดาซึ่งเป็นผู้ดูแลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรกด้วย ผู้ร้องที่ 2 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องที่ 2 ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในฐานะส่วนตัวได้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องทั้งสาม โดยผู้ร้องทั้งสามเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคนละ 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง อ้างว่าจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามดังกล่าวทำให้ได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจและได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายและชื่อเสียงนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงคงได้ความตามที่ผู้ร้องทั้งสามนำสืบมาแต่เพียงว่า หลังเกิดเหตุแล้วทำให้ผู้ร้องที่ 1 อับอายต้องลาออกจากโรงเรียน และผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 เสื่อมเสียชื่อเสียงเท่านั้น เมื่อพิจารณาข้อนี้ประกอบกับข้อเท็จจริงรูปคดีซึ่งจำเลยทั้งสามมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าไม่จริงหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เห็นควรกำหนดให้ผู้เสียหายทั้งสามได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคนละ 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก และจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสาม, 309 วรรคสอง, 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 3 ปี ลงโทษจำเลยทั้งสาม ฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง โดยใช้กำลังประทุษร้ายและโดยมีอาวุธ ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง และฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง จำคุกคนละ 20 ปี ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 1 เป็นเงิน 80,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 2 และที่ 3 เป็นเงินคนละ 80,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้อง (วันที่ 17 สิงหาคม 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

Share