แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับที่โจทก์อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ปรากฏตามสำเนาสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในสิทธิทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณชน เอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า ป. เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด โจทก์ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจาก ป. ให้ฟ้องคดีนี้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารท้ายฟ้อง ข้อ 7 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ตามมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียงนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า “จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมคำร้องและทำนอง งานสิ่งบันทึกเสียงของ ป. โดยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้บริการขับร้องเพลงคาราโอเกะแก่บุคคลทั่วไปชนิดห้องส่วนตัวและให้พนักงานมาบริการโดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง ภายในห้องคาราโอเกะมีจอโทรทัศน์ ไมโครโฟน ลำโพง เครื่องขยายเสียง ชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งบรรจุข้อมูลเพลงที่พ่วงติดกันพร้อมใช้งานอยู่ โดยใช้รีโมตคอนโทรลในการเลือกเปิดเพลง ตัวแทนของโจทก์เข้าไปใช้บริการขับร้องเพลง จึงพบว่าในสมุดเลือกเพลงมีผลงานเพลงของ ป. อยู่จำนวนมาก มีรายชื่อเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา เพลงรอยจูบบนฝ่าเท้า และผลงานต่าง ๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. อีกหลายเพลงซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. ประกอบไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณภาพแบบเนื้อร้อง ทำนอง และเสียงออกทางจอภาพและลำโพง และต่อมาตัวแทนของโจทก์กดเลือกเพลง ก็ปรากฏมีภาพงานเพลง คำร้อง ทำนอง ภาพมิวสิกประกอบเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา และเพลงรอยจูบบนฝ่าเท้า ซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของ ป. โดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง อันเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ป. และโจทก์” เห็นว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าได้มีการบันทึกงานดนตรีกรรมและบันทึกเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ทั้งสามเพลงของ ป. ไว้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. และได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิใช่ความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) ซึ่งตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน” เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้นได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของ ป. อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาด้วยก็ตาม แต่ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีองค์ประกอบของความผิดว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วย ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่มีมูลที่จะลงโทษจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 10, 15, 17, 27, 31, 69, 70, 74, 75 และ 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ให้จ่ายเงินค่าปรับจำนวนกึ่งหนึ่งให้แก่โจทก์ ริบทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดและให้จำเลยชำระเงินจำนวน 99,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยชำระค่าทนายความในการดำเนินคดีจำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 149,500 บาท
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้องในส่วนอาญาและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงส่วนแพ่งได้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือไม่ และฟ้องโจทก์ในส่วนที่อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงของนายปรมินทร์ เป็นฟ้องที่อาจลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานดนตรีกรรมคำร้องและทำนอง งานสิ่งบันทึกเสียงของนายปรมินทร์ โดยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้บริการขับร้องเพลงคาราโอเกะแก่บุคคลทั่วไป ชนิดห้องส่วนตัวและให้พนักงานมาบริการโดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง ภายในห้องคาราโอเกะมีจอโทรทัศน์ ไมโครโฟน ลำโพง เครื่องขยายเสียง ชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งบรรจุข้อมูลเพลงที่พ่วงต่อกันพร้อมใช้งานอยู่ โดยใช้รีโมตคอนโทรลในการเลือกเปิดเพลง ตัวแทนของโจทก์เข้าไปใช้บริการขับร้องเพลง จึงพบว่าในสมุดเลือกเพลงมีผลงานเพลงของนายปรมินทร์อยู่จำนวนมาก มีรายชื่อเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา เพลงรอยจูบบนฝ่าเท้าและผลงานเพลงต่าง ๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์อีกหลายเพลงซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์ประกอบไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณภาพแบบเนื้อร้อง ทำนอง และเสียงออกทางจอภาพและลำโพง และต่อมาตัวแทนของโจทก์กดเลือกเพลง ก็ปรากฏมีภาพงานเพลง คำร้อง ทำนอง ภาพมิวสิกประกอบเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกาและเพลงรอยจูบบนฝ่าเท้า ซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์ อันเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายปรมินทร์และโจทก์ เห็นว่า คำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับที่โจทก์อ้างว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ปรากฏตามสำเนาสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในสิทธิทำซ้ำและเผยแพร่ต่อสาธารณชน เอกสารท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า นายปรมินทร์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุเท่านั้น มิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด โจทก์ในฐานะผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายปรมินทร์ให้ฟ้องคดีนี้ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเอกสารท้ายฟ้อง ข้อ 7 จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียงนั้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า ” จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมคำร้องและทำนอง งานสิ่งบันทึกเสียงของนายปรมินทร์ โดยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้บริการขับร้องเพลงคาราโอเกะแก่บุคคลทั่วไปชนิดห้องส่วนตัวและให้พนักงานมาบริการโดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง ภายในห้องคาราโอเกะมีจอโทรทัศน์ ไมโครโฟน ลำโพง เครื่องขยายเสียง ชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ซึ่งบรรจุข้อมูลเพลงที่พ่วงติดกันพร้อมใช้งานอยู่ โดยใช้รีโมตคอนโทรลในการเลือกเปิดเพลง ตัวแทนของโจทก์เข้าไปใช้บริการขับร้องเพลง จึงพบว่าในสมุดเลือกเพลงมีผลงานเพลงของนายปรมินทร์อยู่จำนวนมาก มีรายชื่อเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกา เพลงรอยจูบบนฝ่าเท้าและผลงานต่าง ๆ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์ อีกหลายเพลงซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์ ประกอบไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีเครื่องอ่านข้อมูลทำการแปลงสัญญาณดิจิทัลเป็นสัญญาณภาพแบบเนื้อร้อง ทำนอง และเสียงออกทางจอภาพและลำโพง และต่อมาตัวแทนของโจทก์กดเลือกเพลง ก็ปรากฏมีภาพงานเพลง คำร้อง ทำนอง ภาพมิวสิกประกอบเพลงชู้ เพลงตำนานรักสะท้านโลกาและเพลงรอยจูบบนฝ่าเท้าซึ่งเป็นงานเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์ โดยคิดค่าบริการห้องร้องเพลงเป็นรายชั่วโมง อันเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ในทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายปรมินทร์และโจทก์” เห็นว่า การบรรยายฟ้องของโจทก์แสดงให้เห็นว่า ได้มีการบันทึกงานดนตรีกรรมและบันทึกเสียงเพลงอันมีลิขสิทธิ์ทั้งสามเพลงของนายปรมินทร์ไว้โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์และได้เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้าอันเป็นความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 31 (2) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มิใช่ความผิดตามมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (2) และ 28 (2) ซึ่งตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานที่จำเลยนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของนายปรมินทร์อันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตมาด้วยก็ตาม แต่ตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวมิได้มีองค์ประกอบของความผิดว่าผู้กระทำความผิดจะต้องกระทำโดยมีเจตนาทุจริตด้วย ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฟ้องของโจทก์จึงไม่มีมูลที่จะลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง เมื่อฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นได้ โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนแพ่งตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า การที่ตัวแทนของโจทก์พบการกระทำที่อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงของโจทก์ภายในร้านที่เกิดเหตุนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยการนำคอมพิวเตอร์ซึ่งมีโปรแกรมที่จำเลยเป็นผู้ทำซ้ำหรือดัดแปลงสิ่งบันทึกเสียงและโสตทัศนวัสดุที่มีคำร้องและทำนองเพลงที่อ้างว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนและโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บรรจุงานเพลงนั้นเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงพิพากษายกฟ้องและไม่รับฟ้องส่วนแพ่งมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ