คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9450/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองจะทำหนังสือแจ้งประกันสังคมโดยระบุว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด…ปรากฏว่าภายหลังศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงการให้ออกของพนักงาน ลงวันที่ 19 เมษายน 2553 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 8 แจ้งเปลี่ยนแปลงการให้ออกของโจทก์จาก “ไล่ออกโดยมีความผิด” เป็น “ไล่ออกโดยไม่มีความผิด” ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความนำมายื่นต่อศาลและให้โจทก์รับไปแล้ว แม้หนังสือดังกล่าวจะมีข้อความอื่นนอกเหนือจากที่ระบุตาม ข้อ 2 ของสัญญาประนีประนอมยอมความรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อโจทก์นำไปยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 8 เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการแก้ไขฐานข้อมูลการเลิกจ้างให้ว่าเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ตรงตามเจตนารมณ์ของคู่ความที่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแรงงานกลางพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ดังนี้
ข้อ 1 จำเลยทั้งสองตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่โจทก์จำนวน 456,000 บาท (เป็นส่วนของจำเลยที่ 1 จำนวน 342,000 บาท และเป็นส่วนของจำเลยที่ 2 จำนวน 114,000 บาท) ซึ่งจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระทุกวันที่ 21 ของทุกเดือน เริ่มเดือนแรกเดือนเมษายน 2553 โดยงวดแรกจะชำระเป็นเงิน370,500 บาท งวดที่ 2 ถึงงวดที่ 4 จะชำระงวดละ 28,500 บาท และเงินที่ผ่อนดังกล่าวจะนำเงินมาวางศาล
ข้อ 2 จำเลยทั้งสองจะทำหนังสือแจ้งประกันสังคมโดยระบุว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งหนังสือดังกล่าวจำเลยทั้งสองจะนำมายื่นต่อศาลภายในวันที่ 21 เมษายน 2553
ข้อ 3 โจทก์จะถอนฟ้องคดีดำที่ 7423/2552 ของศาลนี้ โดยเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีนี้ และโจทก์จะไม่นำคดีมาฟ้องในคดีดังกล่าวอีก
ข้อ 4 หากจำเลยทั้งสองผิดนัดในข้อ 1 และข้อ 2 ยินยอมให้โจทก์คิดค่าปรับเป็นเงิน 800,000 บาท โดยไม่รวมเงินที่จำเลยทั้งสองได้ชำระมาก่อน
ข้อ 5 โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่ติดใจดำเนินคดีไม่ว่าแพ่งและคดีอาญารวมทั้งเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ต่อกันอีก
ข้อ 6 โจทก์และจำเลยทั้งสองยอมตามข้อ 1 ถึงข้อ 5
โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 มีข้อความว่า จำเลยทั้งสองจะทำหนังสือแจ้งประกันสังคมโดยระบุว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด…ปรากฏว่าภายหลังศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม จำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือแจ้งเปลี่ยนแปลงการให้ออกของพนักงาน ลงวันที่ 19 เมษายน 2553 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 8 แจ้งเปลี่ยนแปลงการให้ออกของโจทก์จาก “ไล่ออกโดยมีความผิด” เป็น “ไล่ออกโดยไม่มีความผิด” ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความนำมายื่นต่อศาลและให้โจทก์รับไปแล้ว แม้หนังสือดังกล่าวจะมีข้อความอื่นนอกเหนือจากที่ระบุตาม ข้อ 2 ของสัญญาประนีประนอมยอมความรวมอยู่ด้วยแต่เมื่อโจทก์นำไปยื่นต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 8 เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการแก้ไขฐานข้อมูลการเลิกจ้างให้ว่าเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด ตรงตามเจตนารมณ์ของคู่ความที่ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เช่นนี้จะถือว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำขอให้ออกหมายบังคับคดีนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share