แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2552 ที่พิพาท เท่ากับปีภาษี 2551 ซึ่งเป็นปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว แต่ค่ารายปีของทรัพย์สินแต่ละรายอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้แล้วแต่ข้อเท็จจริงของแต่ละปี ทั้งนี้การพิจารณาเพิ่มหรือลดค่ารายปีต้องมีเหตุผลและต้องคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 8 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาทครั้งแรกเมื่อปีภาษี 2548 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์ตามอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางที่จำเลยกำหนดในบันทึกข้อความที่ กท 7000/2912 ซึ่งโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ต่อมาจำเลยมีบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 จัดกลุ่มตามพื้นที่ที่ตั้งเขตใหม่ ทำให้โรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 และมีอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางต่ำลง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์เท่ากับค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วและนำไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 455/1-2 ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 3 ซึ่งมีความกว้างกว่าถนนเจริญราษฎร์ที่โรงเรือนของโจทก์ตั้งอยู่ อีกทั้งมีราคาประเมินที่ดินที่สูงกว่า และนำไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 3609/9 ซึ่งไม่ได้ประกอบธุรกิจในลักษณะเดียวกันกับโจทก์ โดยไม่นำไปเทียบเคียงกับค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ 358/1 และโรงเรือนเลขที่ 299/10 ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกันกับโจทก์ และเจ้าพนักงานของจำเลยประเมินค่ารายปีโรงเรือนทั้งสองแห่งดังกล่าวโดยใช้อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 อันแสดงให้เห็นว่าการกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยสำหรับอาคารลักษณะพิเศษในเขตเดียวกันใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน ทำให้โจทก์ต้องรับภาระภาษีมากกว่าโรงเรือนรายอื่นที่มีลักษณะทรัพย์สินคล้ายคลึงกับโจทก์ที่ตั้งอยู่ในเขตเดียวกัน อันก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของผู้เสียภาษี การกำหนด ค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยสำหรับโรงเรือนของโจทก์จึงยังไม่เหมาะสมและไม่มีเหตุผลเพียงพอ กรณีจึงมีพฤติการณ์และเหตุผลอันสมควรให้ประเมินค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์โดยใช้อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์มากกว่า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับให้จำเลยคืนเงินภาษี 416,976 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 397,120 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินฉบับลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 และคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาด เล่มที่ 15 เลขที่ 45 ฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 กับให้จำเลยคืนเงินภาษี 397,120 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าว นับแต่วันพ้นกำหนดสามเดือนนับแต่วันพิพากษา และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของโรงเรือนเลขที่ 3609/48 ถนนเจริญราษฎร์ แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 4425 ตำบลบางโคล่ (บ้านทวาย) อำเภอบ้านทราย – บางรัก (บางคอแหลม) จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ที่โจทก์เช่ามาจากนางศจี เพื่อใช้เป็นสถานที่จำหน่ายรถยนต์และศูนย์บริการ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2552 (ภ.ร.ด. 2) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลย ต่อมาจำเลยโดยสำนักงานเขตบางคอแหลมมีใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินแก่โจทก์ กำหนดค่ารายปี 5,497,640 บาท ค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน 687,205 บาท โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยกำหนดค่ารายปีสูงกว่าความเป็นจริง โดยพอใจให้คิดค่าภาษี 290,085 บาท คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติให้ยกคำร้องและยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลย โจทก์ชำระเงินค่าภาษีตามการประเมินแล้วตามสำเนาใบเสร็จรับเงินมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยและคำชี้ขาดของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คดีนี้โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาทครั้งแรกเมื่อปีภาษี 2548 พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยกำหนดค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์ตามอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางที่จำเลยกำหนดในบันทึกข้อความ ที่ กท 7000/2912 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2545 เรื่อง การประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ประเภท อาคารลักษณะพิเศษที่ดำเนินกิจการของตนเอง ข้อ 18 อาคารลักษณะพิเศษ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามพื้นที่ที่ตั้งในเขต ซึ่งโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ต่อมาจำเลยมีบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเพื่อใช้ประกอบในการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ข้อ 18 อาคารลักษณะพิเศษ จัดกลุ่มตามพื้นที่ที่ตั้งในเขตใหม่ ทำให้โรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 และมีอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางต่ำลง แต่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินโรงเรือนของโจทก์เท่ากับค่ารายปีที่ล่วงมาแล้ว และนำไปเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 455/1 – 2 ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร และโรงเรือนเลขที่ 3609/9 ถนนเจริญราษฎร์ แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร โดยไม่นำโรงเรือนของโจทก์ไปเทียบเคียงกับค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ 358/1 ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร และโรงเรือนเลขที่ 299/10 ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และศูนย์บริการเช่นเดียวกับโจทก์ ในขณะที่โรงเรือนเลขที่ 3609/9 ที่จำเลยนำมาเทียบเคียงไม่ได้ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์แต่ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ส่วนโรงเรือนเลขที่ 455/1 – 2 แม้จะเป็นอาคารประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์และศูนย์บริการเช่นเดียวกับอาคารของโจทก์ แต่อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บนถนนพระรามที่ 3 ซึ่งเป็นถนนสายหลัก มีความกว้างกว่าถนนเจริญราษฎร์ที่โรงเรือนโจทก์ตั้งอยู่ ประกอบกับกรมที่ดินยังประเมินราคาที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรือนเลขที่ 455/1 – 2 ตารางวาละ 170,000 บาท ส่วนที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรือนโจทก์มีราคาประเมินตารางวาละ 125,000 บาท นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายธนกาญจน์พยานโจทก์ประกอบกับแบบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2550 ปีภาษี 2551 และปีภาษี 2552 ของโรงเรือนเลขที่ 299/10 และเลขที่ 358/1 ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยประเมินค่ารายปีของโรงเรือนทั้งสองแห่งโดยใช้อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความของกรุงเทพมหานคร ที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งนายอภิชัยพยานจำเลยตอบโจทก์ถามค้านรับว่า โรงเรือนทั้งสองแห่งที่โจทก์นำมาเทียบเคียงจัดเป็นโรงเรือนใหม่เพิ่งเริ่มเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินเมื่อปีภาษี 2550 โดยจัดเป็นอาคารลักษณะพิเศษเช่นเดียวกับโรงเรือนของโจทก์ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยกำหนดค่ารายปีของโรงเรือนทั้งสองแห่งโดยใช้อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความ ที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งมีค่ารายปีในปีภาษีพิพาทในอัตราที่ต่ำกว่าค่ารายปีที่ล่วงแล้วมาของโรงเรือนโจทก์ อันแสดงให้เห็นว่าการกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยสำหรับอาคารลักษณะพิเศษในเขตบางคอแหลมนั้นใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน โดยจำเลยนำสืบถึงสาเหตุที่โรงเรือนทั้งสองแห่งที่โจทก์ให้นำมาเทียบเคียงนั้นใช้หลักเกณฑ์ตามบันทึกข้อความ ที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เนื่องจากโรงเรือนทั้งสองแห่งเริ่มเสียภาษีตั้งแต่ปี 2550 แต่โจทก์เริ่มเสียภาษีตั้งแต่ปี 2548 จึงไม่อาจนำบันทึกข้อความดังกล่าวมาใช้แก่โจทก์ได้ ซึ่งยังไม่มีเหตุผลเพียงพอและทำให้โจทก์ต้องรับภาระภาษีมากกว่าโรงเรือนรายอื่นที่มีลักษณะของทรัพย์สินคล้ายคลึงกับโจทก์ที่ตั้งอยู่ในเขตเดียวกัน อันก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของผู้เสียภาษี ดังนั้น การกำหนดค่ารายปีของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยสำหรับโรงเรือนของโจทก์ที่ใช้ค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วประกอบกับวิธีเทียบเคียงกับค่ารายปีของโรงเรือนเลขที่ 455/1 – 2 และเลขที่ 3609/9 จึงยังไม่เหมาะสมและไม่มีเหตุผลเพียงพอ การประเมินค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์จึงต้องคำนึงถึงลักษณะทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ซึ่งตามบันทึกข้อความที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยได้ปรับปรุงและกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปี ได้กำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางแบ่งตามประเภทของทรัพย์สินรวม 19 ประเภท 1. สถานีจำหน่ายน้ำมัน 2. สนามเทนนิส 3. สนามแบดมินตัน 4. สระว่ายน้ำ 5. สนามไดร์ฟกอล์ฟ 6. สนามกอล์ฟ 7. โรงภาพยนตร์ 8. ห้างสรรพสินค้า 9. ภัตตาคาร, ห้องอาหาร, สวนอาหาร 10. โรงแรม 11. หอพัก 12. เกสต์เฮ้าส์ 13. โรงงาน 14. ตึกแถว 15. ธนาคาร 16. สถานศึกษาเอกชน 17. อาคารชุด 18. อาคารลักษณะพิเศษ 19. โรงพยาบาล โพลีคลินิก โดยโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในประเภท 18. อาคารลักษณะพิเศษ หมายความว่า โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่สร้างขึ้นเป็นเอกเทศที่มีพื้นที่มากกว่า 10,000 ตารางเมตร ขึ้นไป โดยในประเภททรัพย์สินนี้ยังได้แบ่งอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางออกเป็น 3 กลุ่ม ตามที่ตั้งในพื้นที่เขตต่าง ๆ ซึ่งโรงเรือนโจทก์ตั้งอยู่ในเขตบางคอแหลม จัดอยู่ในกลุ่มที่ 2 อันแสดงให้เห็นว่าอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความฉบับดังกล่าวของจำเลยถูกกำหนดขึ้นมาใช้ในเขตของจำเลยโดยคำนึงถึงลักษณะทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 แล้ว เมื่อได้วินิจฉัยในข้างต้นแล้วว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยยังไม่มีเหตุผลเพียงพอ ประกอบกับพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยได้นำอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความ ที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ไปใช้กับผู้เสียภาษีรายอื่นเป็นการทั่วไปรวมถึงโรงเรือนเลขที่ 299/10 และ เลขที่ 358/1 ซึ่งมีสภาพอาคารและการใช้ประโยชน์คล้ายคลึงกับโรงเรือนโจทก์ กรณีจึงมีพฤติการณ์และเหตุผลอันสมควรให้ประเมินค่ารายปีโรงเรือนของโจทก์โดยใช้อัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางตามบันทึกข้อความกรุงเทพมหานครที่ กท 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์มากกว่า อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยกับให้จำเลยคืนเงินภาษีแก่โจทก์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ