แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บ. จดทะเบียนสมรสกับโจทก์เมื่อ 6 ธ.ค. 2501 ต่อมาได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับจำเลยอีกเมื่อ 16 มี.ค. 2505 ป.พ.พ. บรรพ 5 (เดิม) มาตรา 1488 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า บุคคลใดจะอ้างว่าการสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้ นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น เมื่อในขณะที่ บ. ซื้อที่พิพาทยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยยังชอบอยู่ ดังนั้นที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรสของทั้ง บ. โจทก์ และจำเลย
แม้ บ. จะมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไปตามกฎหมาย แต่การที่ บ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเสน่หา อันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสังคมโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติกฎหมายในขณะที่มีการจดทะเบียนให้ขึ้นใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการให้และคืนที่ดินให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๙๙๘ และ ๒๖๙๙๙ ตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองที่ บ. ยกให้จำเลยโดยเสน่หา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นร้องขอพิจารณาใหม่ ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๙๙๘ และ ๒๖๙๙๙ ตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง ที่ บ. ยกให้จำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับ บ. เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๐๑ และยังมิได้มีการจดทะเบียนหย่า ส่วนจำเลยจดทะเบียนสมรสกับ บ. เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๐๕ ต่อมาวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ บ. ได้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ครั้นในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๙ บ. ได้จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวแก่จำเลย ต่อมาวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๐ บ. กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากัน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินสมรสหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการยกที่ดินให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อ บ. ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๐๑ ดังนั้น บ. กับโจทก์จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ที่แก้ไขใหม่ในปี ๒๕๓๓ ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยเป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา ๑๔๙๗ ก็ตาม แต่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๗๐ บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ฯลฯ และตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๕ บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ฯลฯ ดังนั้นปัญหาที่ว่าการสมรสของโจทก์หรือของจำเลยฝ่ายใดสมบูรณ์จึงต้องวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิม ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ เดิม มาตรา ๑๔๘๘ อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้นบัญญัติว่า บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น ฉะนั้นการที่ บ. ได้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ โดยในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยเป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยยังมีอยู่ ดังนั้นที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นที่ดินที่ได้มาระหว่างสมรสระหว่าง บ. ทั้งกับโจทก์และจำเลย ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นสินสมรสของ บ. กับโจทก์และจำเลยรวมสามคน เมื่อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์สินที่ บ. ได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ที่ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ ใช้บังคับ และเมื่อไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๓๓ มาตรา ๖๓ บัญญัติว่า นิติกรรมที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้กระทำไปในการจัดการสินสมรสโดยปราศจากความยินยอมของอีกฝ่ายหนึ่งก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การให้สัตยาบันหรือการขอให้เพิกถอนนิติกรรมนั้นให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๘๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ และพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. ๒๕๑๙ มาตรา ๗ บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงอำนาจการจัดการสินบริคณห์ที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มีอยู่แล้วในวันใช้บังคับบทบัญญัติบรรพ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ฯลฯ เมื่อ บ. มีอำนาจจัดการสินสมรส รวมทั้งอำนาจจำหน่ายสินสมรสอยู่แล้ว บ. จึงมีอำนาจจัดการสินสมรสต่อไป แต่การที่ บ. ยกที่ดินพิพาทสองแปลงให้แก่จำเลยโดยเสน่หาอันมิได้เป็นไปตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางสังคม โดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๐ วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติกฎหมายในขณะที่มีการจดทะเบียนการให้ขึ้นใช้บังคับ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.