คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างทำของ กฎหมายมิได้บัญญัติให้ต้องกระทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ เพียงแต่ผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นก็เป็นการเพียงพอที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ดังนั้น แม้เอกสารตามที่โจทก์อ้างจะไม่มีลายมือชื่อของจำเลยในฐานะผู้ว่าจ้าง ก็ใช้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจำเลยได้ตกลงว่าจ้างให้โจทก์ทำการดังกล่าวหรือไม่ได้
การที่โจทก์ต้องส่งมอบงานก่อสร้างอาคารชุด ส่วนที่ 17 และงานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคารชุดดังกล่าว แก่จำเลยเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา แม้ในส่วนงานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นโจทก์ได้ติดตั้งเสร็จแล้ว แต่งานในส่วนการก่อสร้างอาคารชุด ส่วนที่ 17 โจทก์ยังทำไม่เสร็จ โจทก์ย่อมมีเหตุอันควรที่จะรอส่งมอบงานทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบงานระหว่างโจทก์กับจำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าก็ยังไม่เกิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง และอายุความในการฟ้องร้องจึงยังไม่เริ่มนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ส่งมอบงานที่ทำดังกล่าวแก่จำเลยในวันที่ 5 มิถุนายน 2534 และยื่นฟ้องวันที่ 3 มิถุนายน 2536 สิทธิเรียกร้องในส่วนนี้จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างจำนวน ๔,๖๐๕,๓๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๔ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระสินจ้างจำนวน ๔,๒๑๙,๙๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๔ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๖) ต้องไม่เกินจำนวน ๖๘๙,๔๖๗.๘๘ บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยตกลงให้โจทก์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดตั้งแต่ชั้นที่ ๒ ถึงที่ ๑๔ ตามรายการเพิ่มเติมโครงการศรีธนา ๒ เอกสารหมาย จ. ๔ หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า งานก่อสร้าง เพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ. ๔ เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว จำเลยไม่เคยยอมรับเอกสารดังกล่าว ถ้าหากจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์ให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดดังกล่าวแล้ว โจทก์จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือสั่งงานจากจำเลย มาแสดง แต่ที่โจทก์ไม่สามารถหาหลักฐานหรือใบสั่งงานมาแสดงได้ก็เพราะโจทก์รับจ้างจากเจ้าของห้องชุด แต่ละห้องเองไม่เกี่ยวกับจำเลยนั้น เห็นว่า ในการจ้างทำของนั้น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๗ จ้างทำของ มิได้บัญญัติว่าสัญญาจ้างทำของนั้นจะต้องกระทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้แต่อย่างใดไม่ เพียงแต่ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้ แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นก็เป็นการเพียงพอที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ดังนั้น แม้ตามเอกสารหมาย จ. ๔ จะไม่มีลายมือชื่อของจำเลยในฐานะผู้ว่าจ้างก็ใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อประกอบการพิจารณาว่าจำเลยได้ตกลงให้โจทก์กระทำการดังกล่าวหรือไม่ได้ เมื่อพิเคราะห์ดูรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ. ๔ ประกอบกับจำเลยเองก็เบิกความยอมรับว่าเจ้าของห้องชุดที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแบบจะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยเสียก่อน ดังนี้ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวจึงฟังได้อย่างแน่ชัดว่า จำเลยได้ตกลงให้โจทก์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดตามรายการเพิ่มเติม เอกสารหมาย จ. ๔ จริง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์เบิกความว่าโจทก์ก่อสร้างอาคารชุดส่วนงวดที่ ๑๗ แล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๔ นายบรรทูล ผู้รับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคารชุดดังกล่าวเบิกความว่า พยานได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าจากจำเลยเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ จึงพ้นกำหนดเวลา ๒ ปี คดีในส่วนนี้จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๑) แล้วนั้น เห็นว่า เมื่อพยานเบิกความว่าพยานไม่ได้รับจ้างจากจำเลยโดยตรงโจทก์รับรองกับพยานว่าจะจ่ายค่าจ้างให้เอง แม้จำเลยจะไม่จ่ายเงินให้โจทก์ตามสัญญาก็ตาม เห็นได้ว่าในการเข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคารชุดดังกล่าว นายบรรทูลรับจ้างจากโจทก์ หาใช่รับจ้างจากจำเลยโดยตรงดังที่จำเลยกล่าวอ้างไม่ ดังนั้น การส่งมอบงานทั้งงานก่อสร้างอาคารชุด ส่วนที่ ๑๗ และงานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่อจำเลยจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ตามสัญญา แม้ว่างานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ดำเนินการเสร็จในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ แต่ก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับนายบรรทูล ในเมื่อขณะนั้นการก่อสร้างงานส่วนที่ ๑๗ ยังไม่แล้วเสร็จ ย่อมมีเหตุอันควรที่โจทก์จะรอส่งมอบงานทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบงานระหว่างโจทก์กับจำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการจะเรียก สินจ้างจากจำเลยก็ยังไม่เกิดซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๒ บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป…” และสิทธิเรียกร้อง สินจ้างของโจทก์จะเกิดขึ้นเมื่อได้ส่งมอบการที่ทำตามมาตรา ๖๐๒ วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้ เมื่อรับมอบการที่ทำ” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบการที่ทำแก่จำเลยในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๔ และ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๓๖ เช่นนี้ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ ส่วนนี้จึงหาขาดอายุความไม่
พิพากษายืน

Share