คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เอาประกันชีวิตได้ชำระเบี้ยประกันงวดที่ 2 ล่าช้าไปกว่า 20 วัน แต่ผู้รับประกันชีวิตก็รับเบี้ยประกันไว้โดยมิได้มีข้อขัดข้องโต้แย้ง และในงวดที่ 3 ที่ 4 ต่อไป ผู้เอาประกันชีวิตก็ชำระเบี้ยประกันให้ตามกำหนด และผู้รับประกันก็รับไว้อีก ดังนี้ ถึงแม้ตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีข้อความซึ่งแปลความได้ว่า ถ้าผู้เอาประกันไม่ได้ส่งชำระเบี้ยประกันตามงวดที่ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์แล้ว ผู้เอาประกันจะหมดสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ฌาปนกิจก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่ผู้เอาประกันกับผู้รับประกันปฏิบัติต่อกันดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าผู้เอาประกันและผู้รับประกันซึงเป็นคู่สัญญาต่างได้แสดงเจตนาโดยปริยายไว้ต่อกันว่า สัญญากรมธรรม์ประกันชีวิตนั้นให้คงใช้ได้ระหว่างกันต่อไปตามเดิม ต่อมาถ้าผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่กรรม ผู้รับประกันจะอ้างเหตุว่าผู้เอาประกันขาดส่งเบี้ยประกันตามกำหนด ย่อมมีผลให้กรมธรรม์รายพิพาทสิ้นสุดลง บังคับกันไม่ได้ต่อไปตามข้อสัญญาที่กำหนดไว้ใสนกรมธรรม์นั้น หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการสาขาอุบลฯ เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ตกลงรับประกันชีวิตนางบุญมา คำพันธ์ อายุ ๕๐ ปี โดยตกลงรับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์อุปัทวเหตุและฌาปนกิจ ตีราคาแบบสะสมทรัพย์ ๑๐,๐๐๐ บาท ฌาปนกิจ ๑๐,๐๐๐ บาท กำหนดเวลารับประกัน ๑๕ ปี คิดเบี้ยประกันราย ๓ เดือน เป็นเงินงวดละ ๒๘๒.๑๐ บาท และกำหนดให้ใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสอง (ผู้รับประโยชน์) ตามกรมธรรม์ที่ ๒๘๕๗๔ นางบุญมาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๐๐ โจทก์ได้ติดต่อขอรับเงินชดใช้ในการตายของนางบุญมา จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินให้ตามสัญญาจึงขอให้บังคับจำเลยใช้เงินแก่โจทก์ ๒๐,๐๐๐ บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี
ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่าจำเลยที่ ๒ เป็นตัวแทนของจำเลยที่ ๑ จริง นางบุญมาประกันชีวิตไว้กับจำเลยที่ ๑ เป็น ๓ แบบ คือ แบบสะสม แบบอุปัทวเหตุ และแบบสงเคราะห์ฌาปนกิจ แบบสะสม จำเลยยอมชำระให้โจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ได้โต้แย้ง แบบอุปัทวเหตุ ไม่มีปัญหาโต้แย้ง คงโต้แย้งกันเฉพาะแบบสงเคราะห์ฌาปนกิจเท่านั้น และรับข้อเท็จจริงกันว่า การส่งเบี้ยประกันภัยในรอบปีหนึ่ง ๆ นั้น แบ่งชำระเป็นงวด ๆ งวดที่ ๑ ชำระภายในวันที่ ๔ พฤศจิกายน งวดที่ ๒ ชำระภายในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ งวดที่ ๓ ชำระภายในวันที่ ๔ พฤษภาคม และงวดที่ ๕ ชำระภายในวันที่ ๔ สิงหาคม สำหรับงวดที่ ๒ ที่นางบุญมาจะต้องชำระภายในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ นั้น นางบุญมาได้ชำระเบี้ยประกันภัยเกินกำหนดไป ๒๐ กว่าวัน และต่อมาในงวดที่ ๓ และที่ ๔ ของปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น นางบุญมาได้ชำระภายในกำหนด จำเลยก็ได้รับไว้ ต่อมาวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๐๐ นางบุญมาถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จากกรมธรรม์รายนี้ ข้อที่โต้เถียงกันก็คือ โจทก์ว่า แม้นางบุญมาจะส่งเบี้ยประกันงวดที่ ๒ เลยกำหนด แต่จำเลยก็รับเบี้ยประกันงวดที่ ๓ และที่ ๔ ไว้ จำเลยจึงต้องรับผิด
ส่วนจำเลยว่า เมื่อนางบุญมาส่งล่วงเลยกำหนด สัญญากรมธรรม์ก็ใช้ไม่ได้ แม้จำเลยจะได้รับเงินงวดที่ ๒, ๓ และ ๔ ไว้ก็ดี ก็ไม่ทำให้กรมธรรม์มีผลบังคับ โจทก์จำเลยต่างไม่สืบพยานในข้อนี้ โดยจำเลยขอส่งกรมธรรม์รายนี้และบัตรสงเคราะห์ฌาปนกิจต่อศาล ๒ ฉบับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงินตามแบบสะสมทรัพย์ ๑๐,๐๐๐ บาท และตามแบบสงเคราะห์ฌาปนกิจอีก ๑๐,๐๐๐ บาท รวม ๒๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนไม่ต้องรับผิด ให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ตามข้อสัญญาในกรมธรรม์รายพิพาทในตอนท้ายซึ่งแปลความได้ว่า ถ้าผู้เอาประกันไม่ได้ส่งชำระเบี้ยประกันตามงวดที่ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์แล้ว ผู้เอาประกันจะหมดสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ฌาปนกิจกิจก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางบุญมาผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันงวดที่ ๒ ล่าช้าไป ๒๐ กว่าวัน จำเลยที่ ๑ ก็รับเบี้ยประกันไว้โดยมิได้มีข้อขัดข้องโต้แย้ง และในงวดที่ ๓ ที่ ๔ ต่อไป นางบุญมาก็ชำระเบี้ยประกันให้ตามกำหนด จำเลยที่ ๑ ก็รับไว้อีกเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า นางบุญมาผู้เอาประกันและจำเลยที่ ๑ ผู้รับประกันซึ่งเป็นคู่สัญญาได้แสดงเจตนาโดยปริยายไว้ต่อกันแล้วว่า สัญญากรมธรรม์รายพิพาทหนี้ให้คงใช้ได้ระหว่างกันต่อไป แม้จะถืออย่างที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาขึ้นมาว่า ตามข้อสัญญาทันทีที่นางบุญมาขาดส่งเบี้ยประกันตามกำหนดย่อมมีผลให้กรมธรรม์รายพิพาทสิ้นสุดลง บังคับกันไม่ได้ต่อไปก็ตาม ก็ไม่เห็นมีอะรไห้ามที่จะไม่ให้คู่สัญญามาตกลงกันใหม่ว่าสัญญาตามกรมธรรม์ที่สิ้นสุดไปแล้วนั้นคงให้ใช้ต่อไปตามเดิม พฤติการณ์เท่าที่นางบุญมาผู้เอาประกันกับจำเลยที่ ๑
ผู้รับประกันปฏิบัติต่อกันดังกล่าวข้างต้นนั้นแหละเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายที่จะให้สัญญากรมธรรม์รายพิพาทคงใช้ได้ต่อไปตามเดิมนั่นเอง ข้อที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า สัญญาประกันชีวิตเมื่อเลิกกันแล้วจะเกิดขึ้นได้อีกก็ต้องทำเป็นหนังสือนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อคู่สัญญาตกลงกันให้สัญญาเดิมที่ทำกันไว้เป็นหนังสืออยู่แล้วคงใช้ได้ต่อไป ก็หาต้องทำเป็นหนังสือขึ้นใหม่อีกไม่ พิพากษายืน

Share