คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมภายหลังเสร็จการสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนโดยจำเลยทราบดีแล้วว่าพยานดังกล่าวมีอยู่ขณะสืบพยานโจทก์จึงไม่อยู่ภายในเงื่อนไขแห่งป.วิ.พ.มาตรา88วรรคท้ายที่ศาลจะอนุญาตตามคำขอ พฤติการณ์ที่จำเลยขอเลื่อนคดีมาหลายครั้งจนนัดสุดท้ายแถลงว่าจะไม่ขอเลื่อนคดีอีกโดยจะสืบพยานเท่าที่มาศาลแต่พอถึงวันนัดกลับไม่มีพยานมาศาลพร้อมกับทนายจำเลยขอถอนตัวและจำเลยได้ตั้งทนายความใหม่ทนายจำเลยคนใหม่ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอเลื่อนคดีพฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นเจตนาที่จะประวิงคดีที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตทั้งสองกรณีจึงชอบแล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน111,700 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดแก่โจทก์ โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์ และเป็นนายจ้างของผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวผู้ขับขี่ได้ขับรถในทางการที่จ้าง และทำละเมิดโดยขับรถชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และโจทก์ได้ชำระค่าซ่อมให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 คันดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิใช่นายจ้างของผู้ขับขี่รถยนต์ของจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่มิได้ประมาท ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกสูงเกินสมควร และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่เกิน100,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 114,178.66บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน111,700 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จแต่ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเพียงจำนวน 100,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 4,000บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับฎีกาข้อสุดท้าย ซึ่งจำเลยที่ 2คัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ระบุพยานเพิ่มเติมนั้นปรากฎว่าในชั้นสืบพยานจำเลย จำเลยได้ขอเลื่อนคดีหลายครั้ง จนในนัดสุดท้ายจำเลยแถลงรับรองต่อศาลว่าในนัดต่อไปจำเลยมีพยานมาเท่าใดก็จะสืบเพียงนั้น แต่พอถึงวันนัดจำเลยยังคงไม่มีพยานมาสืบพร้อมกันนี้ทนายจำเลยก็ขอถอนตัวและจำเลยได้ตั้งทนายความใหม่ ในโอกาสเดียวกันนี้ทนายจำเลยคนใหม่ก็ได้ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมและขอเลื่อนคดีซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตทั้งสองกรณี จากพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว เห็นว่า การขอระบุพยานเพิ่มเติมนั้นเป็นเวลาภายหลังที่โจท์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนนำสืบพยานเสร็จแล้ว เหตุผลในคำร้องของจำเลยก็ไม่เข้าเงื่อนไขตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา88 วรรคท้าย ที่ศาลจะอนุญาตตามคำขอได้เพราะจำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีแล้วในขณะสืบร้อยตำรวจเอกเชิดสกุล บุญส่งศรี ว่า พันตำรวจโทพัฒนาจันทนสมิต เป็นผู้รับสำนวนการสอบสวนจากพยานดำเนินการต่อมาเนื่องจากพยานย้ายไปรับราชการที่อื่น ซึ่งหากจำเลยติดใจที่จะสืบพันตำรวจโทพัฒนา จันทนสมิต ก็ชอบที่จำเลยจะขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้เสียแต่ตอนนั้น เมื่อจำเลยมิได้ปฎิบัติให้ถูกต้องแต่เพิ่งมายื่นบัญชีขอระบุพยานเพิ่มเติมเอาในนัดสุดท้ายซึ่งจำเลยได้แถลงรับรองต่อศาลแล้วว่าจะไม่ขอเลื่อนคดีอีก จึงเป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นเจตนาที่จะประวิงคดีโดยตรงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share