แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่เท่าใด และการแปลหรือตีความคำพิพากษาของศาลที่มีใจความว่า ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ให้โจทก์จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและให้โจทก์ชำระราคาที่ดินแก่จำเลยภายใน 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษานั้น ถูกต้องตรงตามสาระสำคัญของสัญญาอันเป็นการซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนไม่ใช่เป็นการซื้อขายที่ดินทั้งแปลงการแปลหรือตีความคำพิพากษาดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อให้การบังคับคดีดำเนินต่อไปได้ถูกต้องโดยไม่มีผลเป็นการแก้เนื้อหาคำวินิจฉัยเดิมของศาลชั้นต้นและไม่ใช่เป็นกรณีที่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป แม้คำพิพากษาดังกล่าวจะถึงที่สุดไปแล้ว ศาลก็มีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่การแปลคำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และเป็นการแก้ไขมาก
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15250 ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก คดีถึงที่สุด โจทก์นำสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยื่นคำขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำพิพากษา สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี มีหนังสือลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 หารือมายังศาลชั้นต้นว่า สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เป็นเนื้อที่ดินทั้งแปลงจำนวน 25 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวา หรือจำนวนเพียง 15 ไร่ 67 ตารางวา ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ศาลชั้นต้นนัดพร้อมโจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ในวันนัดศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้มีหนังสือตอบเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวทั้งแปลงตามคำพิพากษา
ต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2545 จำเลยยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยฝ่ายเดียวทั้งแปลง โดยมิได้พิพากษาให้โจทก์ชำระหนี้ตอบแทนค่าที่ดินแก่จำเลย และมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์แบ่งแยกที่ดินส่วนที่เกินกว่าสัญญาคืนจำเลย ทั้งนี้เพราะตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทตามฟ้องมีข้อกำหนดให้โจทก์ต้องชำระราคาที่ดินงวดแรกแก่จำเลยในวันโอนกรรมสิทธิ์และคืนที่ดินดังกล่าวด้วย จึงขอให้กำหนดวิธีการที่โจทก์จะต้องชำระราคาที่ดินตามสัญญาแก่จำเลยให้ชัดเจนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลชั้นต้น และมีคำสั่งให้สำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ให้ระงับการโอนหรือเปลี่ยนแปลงนิติกรรมใดๆ ในที่ดินพิพาทไว้ชั่วคราวด้วย ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้รับคำร้องของจำเลยไว้พิจารณาแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วแปลคำพิพากษาว่า ในการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามคำพิพากษา หมายถึง การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายต่อกันตามสัญญา กล่าวคือ จำนวนที่ดินเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา โดยโจทก์ผู้จะซื้อจะต้องชำระราคาที่ดินตามที่ตกลงซื้อขายกันจำนวน 5,093,600 บาท ให้ครบถ้วนในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยราคาที่ดินที่ซื้อขายกันให้คิดหักกับค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันจดทะเบียนอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยให้ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและชำระราคาที่ดินภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 26 มีนาคม 2547 หากฝ่ายจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ทั้งนี้ให้โจทก์จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และให้โจทก์ชำระราคาที่ดินแก่จำเลยภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำแปลคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า การแปลคำพิพากษาไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และเป็นการแก้ไขมากนั้น เห็นว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 15250 ตำบลบึงกาสาม (คลองหกวาสายบนฝั่งใต้) อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี (ธัญบุรี) ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย มีเนื้อที่ทั้งแปลง 25 ไร่ 1 งาน 67 ตารางวา เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวเฉพาะส่วนเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ในราคา 5,093,600 บาท และจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าว แต่ปรากฏว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่เท่าใด เป็นเหตุให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ว่าจะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเนื้อที่เท่าใดจึงจะเป็นการถูกต้อง ซึ่งการแปลหรือตีความคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่มีใจความว่า ให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการโอนกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ให้โจทก์จำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทและให้โจทก์ชำระราคาที่ดินแก่จำเลยภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ฟังคำพิพากษานั้นถูกต้องตรงตามสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่เป็นสัญญาต่างตอบแทนและเป็นการซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนไม่ใช่เป็นการซื้อขายที่ดินทั้งแปลง ทั้งการแปลหรือตีความคำพิพากษาดังกล่าวมุ่งหมายเพื่อให้การบังคับคดีดำเนินต่อไปได้โดยถูกต้องและเป็นธรรมต่อคู่ความทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีผลเป็นการแก้เนื้อหาคำวินิจฉัยเดิมของศาลชั้นต้นและไม่ใช่เป็นกรณีที่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป แม้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะถึงที่สุดไปแล้ว ศาลล่างทั้งสองก็มีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง จึงไม่ใช่เป็นการแปลคำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และเป็นการแก้ไขมากดังที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์และจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา และให้โจทก์ชำระราคาที่ดินแก่จำเลยภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1