คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8282/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง อันจะพึงต้องริบหรือไม่นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์ยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ซึ่งการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) เป็นเรื่องอยู่ในดุลพินิจของศาล และมีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้นๆ โดยตรง กล่าวคือ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยวิ่งราวทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางแล่นประกบขนาบข้างรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การที่จำเลยวิ่งราวทรัพย์ของผู้เสียหายย่อมต้องอาศัยรถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิด อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง เป็นทรัพย์สินที่ควรริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 336, 336, ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำส่วนหนึ่งของเส้นที่ผู้เสียหายยังไม่ได้คืนราคา 5,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานวิ่งราวทรัพย์ จำคุก 4 ปี 6 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถ การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 14 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 7 เดือน ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้คืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำส่วนที่ยังไม่ได้คืนราคา 5,000 บาท แก่ผู้เสียหายนั้น จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 5,000 บาท แล้ว คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ให้จำคุก 3 ปี เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถ เป็นจำคุก 3 ปี 8 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 10 เดือน และไม่ริบรถจักรยายนต์ของกลาง แต่ให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ปัญหาที่จำเลยฎีกามีความผิดฐานจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วขับรถจักรยานยนต์รวมอยู่ด้วยอันเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานนี้ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งจะฎีกาได้ต้องทำเป็นคำร้องยื่นขออนุญาตต่อศาลฎีกา ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยข้อนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์มีเหตุสมควรจะรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยลักสร้อยคอทองคำหนัก 2 บาท ราคา 24,000 บาท พร้อมพระเลี่ยมทองคำหนัก 2 สลึง ราคา 5,000 บาท ของผู้เสียหาย โดยฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้า โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่นำพาต่อกฎหมายบ้านเมือง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน หรือมีเหตุอื่นดังที่จำเลยยกขึ้นอ้างในฎีกา ก็มิใช่เป็นเหตุผลเพียงพอจะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ว่าจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแก่ผู้เสียหาย นับว่าจำเลยได้พยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดของตนตามสมควรแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จำคุกจำเลยถึง 3 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงอันจะพึงต้องริบหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย โจทก์ยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ซึ่งการที่ศาลจะมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) เป็นเรื่องอยู่ในดุลพินิจของศาลและมีความมุ่งหมายถึงให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดนั้นๆ โดยตรง กล่าวคือ ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไป เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยวิ่งราวทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางแล่นประกบขนาบข้างรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับเพื่อความสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบงชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การที่จำเลยวิ่งราวทรัพย์ของผู้เสียหายย่อมต้องอาศัยรถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิด อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์โดยตรง และเป็นทรัพย์สินที่ควรริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง แต่ให้คืนแก่เจ้าของนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 9 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุก 4 เดือน ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถแล้ว เป็นจำคุก 13 เดือน ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share