คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8018/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้และบรรยายในคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความว่า ก่อนมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อพร้อมทั้งส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยร่วมแล้ว โดยโจทก์ให้ความยินยอมเป็นหนังสือและทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่กับจำเลยร่วม อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 มาเป็นจำเลยร่วม จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ย่อมมีผลเป็นการยกฟ้องจำเลยร่วม จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์ว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ต้องรับผิดต่อโจทก์ มิใช่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นการอุทธรณ์โต้แย้งโจทก์และเป็นอุทธรณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยร่วมด้วยเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยร่วมยังเป็นคู่ความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามโดยสั่งให้ส่งสำเนาแก่โจทก์ แต่ไม่ได้ส่งสำเนาแก่จำเลยร่วมเพื่อแก้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 235 และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไปโดยมิได้มีคำสั่งให้แก้ไขเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาดังกล่าวเสียก่อนกับการที่ศาลชั้นต้นไม่นัดจำเลยร่วมมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาแทนจำนวน 438,500 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าใช้ทรัพย์จำนวน 185,000 บาท และค่าใช้ทรัพย์อัตราเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 623,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เรียกนายเกียรติโรจน์ เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยและใช้การได้ดี หากหากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 263,250 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ จำนวน 166,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 429,750 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 เมษายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 4,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแต่ไม่เกิน 6 เดือน กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ในราคา 670,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 130,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 11,250 บาทต่อเดือน รวม 48 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 25 มิถุนายน 2540 โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์และหนังสือสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ 9 งวด และผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 10 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 25 มีนาคม 2541 ตามตารางการเช่าซื้อ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้และบรรยายในคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยรวมเข้าเข้ามาเป็นคู่ความว่า ก่อนมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าซื้อพร้อมทั้งส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้จำเลยร่วมแล้ว โดยโจทก์ให้ความยินยอมเป็นหนังสือและทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่กับจำเลยร่วมอันเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ย่อมมีผลเป็นการยกฟ้องจำเลยร่วม จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์ว่า จำเลยร่วมเป็นผู้ต้องรับผิดต่อโจทก์มิใช่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นการโต้แย้งโจทก์และเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยร่วมด้วยเช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยร่วมยังเป็นคู่ความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามโดยสั่งให้ส่งสำเนาแก่โจทก์แต่ไม่ได้ส่งสำเนาแก่จำเลยร่วมเพื่อแก้อุทธรณ์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 235 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาไปโดยมิได้มีคำสั่งให้แก้ไขเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาดังกล่าวเสียก่อน กับการที่ศาลชั้นต้นไม่นัดจำเลยร่วมมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาคดีไปโดยมิชอบ เมื่อคดีปรากฏเหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา จึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แล้วย้อนสำนวนกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไป”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งสำเนาอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามให้แก่จำเลยร่วม แล้วส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ยกฎีกาของจำเลยทั้งสาม คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share