คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7957/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น ดังนั้น เมื่อ พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่งไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้ในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง การกำหนดและจ่ายเงินทดแทนตามความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ เมื่อเทียบกันกับกรณีในคดีนี้วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แพ่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งจำเลยได้ประกาศ เรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์ จากโรงไฟฟ้าราชบุรีไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 ดังนั้น วันที่จะพิจารณาถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าสายนี้ คือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เพิ่มอีก 11,459,991.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสื่อมราคาที่ดิน 23,500,423.12 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 16,408,029.98 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2542) เป็นต้นจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 80,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรวม 13 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2438 ถึง 2445, 13444 ถึง 13445 และ 39070 ถึง 39072 ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี มีแนวเขตที่ดินติดต่อกันรวมเนื้อที่ 68 ไร่ 32 ตารางวา ทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์อยู่ติดถนนเพชรเกษม (สายเก่า) นครปฐม – ราชบุรี และทิศตะวันตกติดทางรถไฟสายใต้ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 มีประกาศการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าราชบุรีไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งแนวเขตสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวพาดผ่านที่ดินของโจทก์บางส่วนด้วย โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 2438 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 98.80 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 2439 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 90.30 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 39071 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 2 งาน 93.90 ตารางวา และที่ดินโฉนดเลขที่ 39072 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 93.80 ตารางวา รวมเนื้อที่ดินถูกสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านทั้งสิ้น 13 ไร่ 43.30 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ โดยใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2539 ถึงปี 2542 ของสำนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีและเพิ่มให้อีกอัตราร้อยละ 50 แต่ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 245,000 บาท เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ที่ดินติดถนนเพชรเกษม (สายเก่า) ระยะ 40 เมตร ราคาไร่ละ 1,200.000 บาท ส่วนที่ 2 ที่ดินแปลงเดียวกันต่อจากส่วนที่ 1 ระยะ 40 เมตร ราคาไร่ละ 600,000 บาท และส่วนที่ 3 ที่ดินนอกเขตทางหลวง ราคาไร่ละ 245,000 บาท แต่เนื่องจากมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินสวนที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านจึงไม่จ่ายค่าทดแทนที่ดินให้เต็มราคาประเมินที่ดิน แต่ถือจ่ายให้เป็นอัตราร้อยละของราคาประเมินที่ดินที่กำหนดไว้ 4 ประการคือ
1. ที่ตั้งเสาไฟฟ้า จ่ายให้เต็มร้อยละ 100 ของราคาประเมินที่ดิน
2. ที่บ้าน จ่ายให้ร้อยละ 90 ของราคาประเมินที่ดิน
3. ที่สวน จ่ายให้ร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดิน
4. ที่นา จ่ายให้ร้อยละ 50 ของราคาประเมินที่ดิน
สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2438 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 98.80 ตารางวา จ่ายประเภทที่นาไร่ละ 245,000 บาท เป็นเงิน 489,632.50 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 2439 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน 90.30 ตารางวา แบ่งจ่ายเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 ประเภทที่ดินติดเขตทางหลวงระยะ 40 เมตร เนื้อที่ 37.40 ตารางวา ราคาไร่ละ 1,200,000 บาท จ่ายร้อยละ 90 ส่วนที่ 2 จ่ายประเภทที่นาเนื้อที่ 2 งาน 88.80 ตารางวา ราคาไร่ละ 600,000 บาท และส่วนที่ 3 จ่ายประเภทที่นาเนื้อที่ 3 ไร่ 64.10 ตารางวา ราคาไร่ละ 245,000 บาท รวมเป็นเงิน 554,598.75 บาท (คำนวณผิดที่ถูกคือ 704,710.63 บาท) ที่ดินโฉนดเลขที่ 39070 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 4 ไร่ 66.50 ตารางวา แบ่งจ่ายเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 จ่ายประเภทที่ติดเขตกทางหลวงระยะ 40 เมตร เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 47.50 ตารางวา ราคาไร่ละ 1,200,000 บาท จ่ายร้อยละ 90 ส่วนที่ 2 จ่ายประเภทที่นา เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 37.30 ราตางวา ราคาไร่ละ 600,000 บาท และส่วนที่ 3 จ่ายประเภทที่น่าเนื้อที่ 3 งาน 81.70 ตารางวา ราคาไร่ละ 245,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,343,120.63 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 39071 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 2 งาน 93.90 ตารางวา แบ่งจ่ายเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 จ่ายประเภทที่ดินติดเขตทางหลวงระยะ 40 เมตร เนื้อที่ 2 งาน 67.40 ตารางวา ราคาไร่ละ 1,200,000 บาท จ่ายร้อยละ 90 และส่วนที่ 2 จ่ายประเภทที่นา เนื้อที่ 26.50 ตารางวา ราคาไร่ละ 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 741,855 บาท และที่ดินโฉนดเลขที่ 39072 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเนื้อที่ 93.80 ตารางวา จ่ายประเภทที่นา ราคาไร่ละ 245,000 บาท เป็นเงิน 28,726.25 บาท รวมเป็นเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดิน 4,157,933.13 บาท และเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินส่วนที่ตั้งเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินโฉนดเลขที่ 29070 จำนวน 111,975 บาท รวมกับเงินค่าทดแทนต้นไม้คิดเป็นเงิน 4,673,283.14 บาท โจทก์ไม่ไปรับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจากจำเลย จำเลยจึงนำเงินจำนวนดังกล่าวไปฝากไว้ที่ธนาคารออมสินโดยจำเลยได้ฝากเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินส่วนที่คำนวณผิดเพิ่มเติมรวมเป็นเงินที่จำเลยฝากชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 4,878,066.02 บาท ซึ่งโจทก์ได้เบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้ว แต่ยังไม่พอใจจึงฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทรวม 13 แปลง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้ที่ดินพิพาททั้งหมดสร้างโรงงานผลิตแผ่นพื้นคอนกรีต ถือว่าโจทก์มีเจตนาครอบครองที่ดินทั้งสิบสามแปลงอย่างที่ดินแปลงเดียวกัน จำเลยจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ในราคาที่ดินติดถนนเพชรเกษมทั้งแปลงในราคาไร่ละ 1,200,000 บาท เนื้อที่ 13 ไร่ 43.30 ตารางา เป็นเงิน 15,729,900 บาท นอกจากนี้ยังกำหนดค่าเสื่อมราคาที่ดินส่วนที่อยู่นอกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเนื้อที่ 54 ไร่ 3 งาน 88.70 ตารางวา ในราคาไร่ละ 100,000 บาท เป็นเงิน 5,497,175 บาท ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินทั้งห้าแปลงที่ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเป็นอัตราเดียวกันไร่ละ 1,200,000 บาท หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาสรุปได้ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า แม้โจทก์ครอบครองที่ดินทั้งสิบสามแปลงติดต่อกันอย่างที่ดินแปลงเดียวกัน การกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินก็ยังใช้หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ กำหนดให้เป็น 3 ส่วนอยู่ดี จึงเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังว่าโจทก์ครอบครองที่ดินทั้งสิบสามแปลงอย่างที่ดินแปลงเดียว การคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์จึงควรใช้ราคาเดียวกันตลอดทั้งแปลง ฉะนั้นเมื่อด้านหน้าที่ดินพิพาททั้งแปลงของโจทก์อยู่ติดถนนเพชรเกษม (สายเก่า) จึงต้องถือว่าที่ดินพิพาททั้งสิบสามแปลงของโจทก์อยู่ติดถนนเพชรเกษม (สายเก่า) ด้วย การกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์จึงควรกำหนดอัตราเดียวกันไร่ละ 1,200,000 บาท ตลอดทั้งสิบสามแปลงนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งเสาเพื่อเดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้า
(2) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น
(3) การใช้ที่ดินที่ประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า
(4) การกระทำตามมาตรา 29 (3)
จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กฎหมายบัญญัติไว้กว้างๆ ว่าให้จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ซึ่งต่างมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มีการจ่ายเงินค่าทดแทนให้เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่น ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้ในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนอย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง การกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือ วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับเมื่อเทียบกันกับกรณีในคดีนี้วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ซึ่งจำเลยได้ประกาศ เรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากโรงไฟฟ้าราชบุรีไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 ดังนั้น วันที่จะพิจารณาถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าสายนี้ คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537…”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share