คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 942/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นกรรมการลูกจ้าง การที่ผู้คัดค้านทั้งสามติดตาม จ. ซึ่งเป็นเพื่อนพนักงานไปยังฝ่ายบุคคลโดยได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และเมื่อไปถึงก็ไม่ปรากฏว่า ภ. ผู้จัดการฝ่ายบุคคลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสามกลับมาทำงานแต่อย่างใด การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามจึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง
ผู้ร้องออกประกาศเรื่อง ระเบียบการแต่งกายของพนักงานเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่บริษัท โดยผู้ร้องได้กำหนดระเบียบ ข้อ 4 ห้ามพนักงานชายทุกคนสวมใส่ตุ้มหูและไว้ผมยาว (ซึ่งเป็นการสร้างบุคลิกภาพไม่เหมาะสมในการเป็นพนักงานที่ดีของบริษัท) ซึ่งผู้ร้องสามารถกระทำได้ ประกาศดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ แต่เมื่อได้ความว่ามีลูกจ้างผู้ร้องคนอื่นซึ่งเป็นพนักงานชายใส่ตุ้มหูหรือต่างหูมาทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบตามประกาศดังกล่าวโดยผู้ร้องมิได้ลงโทษ คงลงโทษเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 เพราะเหตุที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยวาจา ฐานแต่งกายผิดระเบียบของผู้ร้องได้

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกผู้ร้องทั้งสามสำนวนว่า ผู้ร้อง และเรียกผู้คัดค้านทั้งสามสำนวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ
ผู้ร้องทั้งสามสำนวนยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 โดยการตักเตือนด้วยวาจาและเป็นหนังสือ และผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 โดยการตักเตือนเป็นหนังสือ
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยวาจา ฐานแต่งกายผิดระเบียบของผู้ร้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีเหตุในการขออนุญาตลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านทั้งสามเป็นหนังสือหรือไม่ โดยผู้ร้องอุทธรณ์ในทำนองว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างมาพบฝ่ายบุคคลในเวลาทำงานเพราะเหตุที่นายจรูญ ถูกลงโทษนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง ดังนั้น การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นกรรมการลูกจ้าง การที่ผู้คัดค้านทั้งสามติดตามนายจรูญ ซึ่งเป็นเพื่อนพนักงานไปยังฝ่ายบุคคล โดยได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและเมื่อไปถึงก็ไม่ปรากฏว่านายภราดร ผู้จัดการฝ่ายบุคคล มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านทั้งสามกลับมาทำงานแต่อย่างใด การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามจึงยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า กรณีมีเหตุสมควรอนุญาตให้ลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยวาจา ฐานแต่งกายผิดระเบียบของผู้ร้องหรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์ว่า พนักงานชายรวมทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ใส่ตุ้มหูหรือต่างหูโดยไม่มีใครถูกลงโทษ การใส่ตุ้มหูหรือต่างหูเป็นเครื่องประดับทั่วไป การที่ผู้ร้องห้ามมิให้ผู้คัดค้านที่ 1 ใส่ตุ้มหูหรือต่างหูจึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้คัดค้านที่ 1 และขัดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เห็นว่า ผู้ร้องออกประกาศเรื่อง ระเบียบการแต่งกายของพนักงาน เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีแก่บริษัท โดยผู้ร้องได้กำหนดระเบียบดังนี้ ข้อ 4 ห้ามพนักงานชายทุกคนสวมใส่ตุ้มหูและไว้ผมยาว (ซึ่งเป็นการสร้างบุคลิกภาพไม่เหมาะสมในการเป็นพนักงานที่ดีของบริษัท) ซึ่งผู้ร้องสามารถกระทำได้ ประกาศดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ แต่เมื่อได้ความว่ามีลูกจ้างผู้ร้องคนอื่นซึ่งเป็นพนักงานชายใส่ตุ้มหูหรือต่างหูมาทำงานอันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบตามประกาศดังกล่าวโดยผู้ร้องมิได้ลงโทษ คงลงโทษเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 เพราะเหตุที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นกรรมการลูกจ้าง จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนผู้คัดค้านที่ 1 ด้วยวาจา ฐานแต่งกายผิดระเบียบของผู้ร้องได้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขออนุญาตลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ฐานแต่งกายผิดระเบียบของผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลแรงงานกลาง

Share