คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4998/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้บังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 541/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ใช่คู่ความรายเดียวกันกับคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 4,397,882.36 บาท และชำระค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินและค่าเสียโอกาสทางธุรกิจอัตราวันละ 25,619.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารของจำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ใช้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 รวมกันเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระเงินแก่โจทก์ 294,980.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 205,673.72 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 กรกฎาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะในส่วนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า คดีเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดออกจากที่ดินพิพาทโดยไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหาย ขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ฟ้องคดีนี้ว่า จำเลยที่ 1 ทำละเมิดไม่ออกจากที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีเดิมและเรียกค่าเสียหาย เมื่อการทำละเมิดตามฟ้องคดีนี้เกิดขึ้นและติดต่อกันมาตั้งแต่คดีเดิม ทั้งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ในคดีเดิมอยู่แล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 คำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว โจทก์ไม่จำต้องแนบสัญญาว่าจ้างมาท้ายฟ้องเพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์มีสิทธิการเช่าที่ดินพิพาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 119 หรือ 488 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่อุทธรณ์ว่า อาคารหรือบ้านเลขที่ 488 และ 119 เป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 4 โจทก์ใช้บ้านดังกล่าวเป็นสำนักงานของโจทก์ โจทก์จึงต้องเสียค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 อัตราเดือนละ 20,000 บาท ตามฟ้องแย้งนั้น เป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัย ส่วนประเด็นค่าเสียหายของโจทก์นั้น ขณะที่โจทก์นำสำเนาสัญญาว่าจ้างต่อเรือลำเลียงมานำสืบ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 93 (1) และ (4) ซึ่งพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยค่าเสียหายของโจทก์มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วย แต่วันที่ 16 กันยายน 2556 โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย เนื่องจากขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาท เมื่อคำนวณนับแต่วันที่ 21 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2556 เป็นเวลา 238 วัน การที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์ได้รับค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาท 239 วัน จึงเกินสิทธิที่โจทก์จะได้รับ ต้องลดค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินลง 1 วัน เป็นเงิน 98.95 บาท พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระเงินแก่โจทก์ 294,881.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 205,574.77 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาล รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทั้งหมดให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 และไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 119 หรือ 488 หรือในที่ดินพิพาทเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีในส่วนนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 541/2554 ของศาลชั้นต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ด้วยนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ได้บังคับคดีในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 541/2554 ของศาลชั้นต้นแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงไม่ใช่คู่ความรายเดียวกันกับคดีดังกล่าว ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่กำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายให้เป็นรายวันแก่โจทก์ แต่ลดค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินลง 1 วัน คือวันที่ 16 กันยายน 2556 เป็นเงิน 98.95 บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายภายหลังวันฟ้อง ดังนั้น ค่าเสียหายที่คำนวณถึงวันฟ้องจึงยังคงเป็นจำนวนเงิน 205,673.72 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและถือเป็นต้นเงินในการคิดดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องชำระแก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 205,574.77 บาท จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องและทุนทรัพย์ที่จะนำมาคำนวณค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในแต่ละชั้นศาล ถ้าจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาเป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาเช่นเดียวกับในศาลชั้นต้น แต่ถ้าผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาได้รับความพอใจแต่บางส่วนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล่างแล้ว และจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาต่ำกว่าในศาลชั้นต้น ผู้อุทธรณ์หรือผู้ฎีกาต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์หรือราคาต่ำนั้น ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าชำระเงินแก่โจทก์ 294,980.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 205,673.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยศาลชั้นต้นคำนวณค่าเสียหายถึงวันที่ 16 กันยายน 2556 วันที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งค่าเสียหายคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 205,673.72 บาท โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าชำระเงิน 4,397,882.36 บาท ตามฟ้อง ทุนทรัพย์ที่เรียกร้องในชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง 4,192,208.64 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 83,844 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 87,957 บาท เกินมา 4,113 บาท จึงต้องคืนให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ 205,673.72 บาท ค่าเสียหายและดอกเบี้ยหลังจากวันฟ้องไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือที่พิพาทกันอันเป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น จึงไม่อาจนำมาคำนวณเป็นจำนวนทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 4,113 บาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 5,899 บาท เกินมา 1,786 บาท จึงต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 สำหรับอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 รวมกันเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไปนั้น เป็นการขอให้ชำระหนี้ในอนาคตจึงไม่มีจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องหรือที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ที่จะนำมาคำนวณเป็นค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ อุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 4 เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้ง 6,800 บาท จึงไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ถือเป็นการยกอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 โดยยังมิได้วินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้พิพากษาคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ส่วนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ 205,673.72 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 4,113 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 6,576 บาท เกินมา 2,463 บาท จึงต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ชำระดอกเบี้ยจากต้นเงิน 205,673.72 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมาให้แก่โจทก์เป็นเงิน 4,113 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 1,786 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนฟ้องแย้งทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 4 และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 2,463 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share