แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการพิจารณาความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้า นอกจากจะต้องพิจารณาในเรื่องรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายแล้วยังคงต้องพิจารณาสินค้าที่นำมาขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับเครื่องหมายด้วยว่าเป็นสินค้าประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันหรือไม่ รวมทั้งช่องทางจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้ใช้สินค้าดังกล่าวว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือมีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันหรือไม่
เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของบุคคลอื่นจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 1 เช่นเดียวกัน แม้ในส่วนรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานมีความคล้ายกันเนื่องจากมีอักษรตัวท้ายแตกต่างกันเพียงตัวเดียวและมีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ ผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ส่วนผู้ใช้สินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นเกษตรกรที่ปลูกต้นยาง เมื่อกลุ่มผู้ใช้สินค้าและวัตถุประสงค์การใช้สินค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ โจทก์จะใช้วิธีติดต่อกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมโดยตรงและไม่มีการวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป และในการจำหน่าย เสนอจำหน่าย และโฆษณาสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า “” นั้นจะปรากฏชื่อและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BIOMERIEUX” อยู่ด้วยเสมอ จึงช่วยสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์กับสินค้าของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์มีเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นคำว่า “” และเครื่องหมายการค้า “” แต่เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสามแล้ว มีความแตกต่างในเรื่องจำนวนตัวอักษรและตัวอักษรที่ต่างกัน รูปลักษณ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามจึงต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนแม้จะเป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันทั้งสามเครื่องหมาย แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอของโจทก์เป็นสินค้าประเภทเครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ และสินค้าของโจทก์ถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ส่วนสินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” เป็นหลอดแก้วที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ซึ่งถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยา ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับทางการแพทย์ซึ่งย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์เป็นอย่างดี จึงย่อมทราบความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่น ใช้กับรายการสินค้าที่เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับด้านการสื่อสารทางเสียง จึงไม่ใช่สินค้าที่มีลักษณะเดียวกับสินค้าโจทก์ ทั้งช่องทางการจำหน่ายของโจทก์เป็นการขายตรงต่อลูกค้าไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป จึงยากที่กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์จะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 และ 16
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 717001 และเลขที่ 717003 มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/1456 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1014/2554 สำหรับคำขอเลขที่ 717001 และเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/2568 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 933/2555 สำหรับคำขอเลขที่ 717003 โดยให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 717001 และ 717003 ต่อไป โดยคำขอเลขที่ 717003 ขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยในประเด็นเรื่องรายการสินค้าที่โจทก์อุทธรณ์ไว้ต่อไปด้วย
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือที่ พณ 0704/1456 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 1014/2554 สำหรับคำขอเลขที่ 717001 และเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/2568 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 933/2555 สำหรับคำขอเลขที่ 717003 โดยให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 717001 และเลขที่ 717003 ของโจทก์ต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “” อ่านออกเสียงว่า “วีเทค” แปลความหมายไม่ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้รับการจดทะเบียนในหลายประเทศ โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 1 รายการสินค้า สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทางเกษตร สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สารรีเอเจนต์และสารตัวกลางสำหรับใช้ในการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์และสัตวแพทย์และที่ใช้ในการควบคุมและตรวจจับสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและเครื่องสำอาง และสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า เครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับใช้ในการควบคุมและตรวจจับสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหารทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ทางการแพทย์ ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 717001 และ 717003 ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดเลขที่ 707001 ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” อ่านออกเสียงว่า วีเท็กซ์ ของบุคคลอื่นซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 1 รายการสินค้า สารละลายเคมีที่ใช้ในการรักษาเปลือก ต้นยาง สารละลายเคมีเพื่อใช้เพิ่มผลผลิตน้ำยาง ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอเลขที่ 717003 ของโจทก์นั้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขรายการสินค้าที่ 9 และ 10 ซึ่งเป็นเครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ใหม่ และมีคำสั่งต่อมาว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” อ่านออกเสียงว่า “วีเทร็กซ์” ของบุคคลอื่นซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า หลอดแก้วที่ใช้ในห้องวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ และคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” อ่านออกเสียงว่า “วีเท็ก” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า เครื่องรับและส่งทางโทรคมนาคม เครื่องรับวิทยุ เครื่องขยายเสียง เครื่องเชื่อมต่อทางโทรคมนาคม โทรศัพท์ เครื่องโทรศัพท์ชนิดมีภาพ เครื่องตอบทางโทรศัพท์ เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เกมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องที่ใช้บันทึก ส่งหรือเล่นซึ่งเสียงและภาพเครื่องรับสัญญาณภาพที่ส่งผ่านดาวเทียม ฯลฯ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ จึงมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเห็นว่าเป็นกรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 สำหรับประเด็นเรื่องรายการสินค้านั้น คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ได้พิจารณาโดยให้เหตุผลว่าไม่ทำให้คำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “”ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 717001 และ 717003 ของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” เครื่องหมายการค้าคำว่า “” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “”ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในการพิจารณาความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้านั้น นอกจากจะต้องพิจารณาในเรื่องรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายแล้ว ยังคงต้องพิจารณาถึงสินค้าที่นำมาขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับเครื่องหมายด้วยว่าเป็นสินค้าประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันหรือไม่ รวมทั้งช่องทางจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้ใช้สินค้าว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือมีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันได้หรือไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้เพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 1 ตามคำขอเลขที่ 717001 กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าจำพวก 1 เช่นกันนั้น แม้พิจารณาในส่วนของรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานแล้วเห็นว่า มีความคล้ายกันระดับหนึ่ง เนื่องจากมีอักษรตัวท้ายแตกต่างกันเพียงตัวเดียวและมีเสียงเรียกขานที่คล้ายกันก็ตาม แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าประเภท สารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สารรีเอเจนต์และสารตัวกลางสำหรับใช้ในการควบคุมและตรวจจับสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นสินค้าที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประเภทต่างๆ ส่วนสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เป็นสินค้าประเภทสารละลายเคมีที่ใช้ในการรักษาเปลือกต้นยางและสารเคมีที่ใช้เพิ่มผลผลิตน้ำยาง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ผู้ใช้สินค้าส่วนใหญ่ย่อมต้องเป็นเกษตรกรที่ปลูกต้นยาง ดังนั้น แม้รายการสินค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” จะเป็นสินค้าจำพวก 1 และเป็นสารเคมีเหมือนกับสินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว เพื่อใช้กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” แต่เมื่อกลุ่มผู้ใช้สินค้าและวัตถุประสงค์ของการใช้สินค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นของนางเนตยา ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ระบุด้วยว่า ในการจำหน่ายสินค้าของโจทก์นั้น จะใช้วิธีติดต่อกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมโดยตรงและไม่มีการวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปด้วยและในการจำหน่าย เสนอจำหน่ายและโฆษณาสินค้านั้นของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” นั้นจะปรากฏชื่อและเครื่องหมายการค้าคำว่า “BIOMERIEUX” อยู่ด้วยเสมอตัวในสื่อโฆษณา เว็บไซต์ และเอกสารการค้าต่าง ๆ ของโจทก์ จึงช่วยให้ผู้ซื้อสินค้าสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์กับสินค้าของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 717001 ของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า”” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ส่วนคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอเลขที่ 717003 นั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนของรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว เห็นว่า แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีเสียงเรียกขานว่า “วีเทค” จะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นคำว่า “” ซึ่งมีเสียงเรียกขานว่า “วีเทร็กซ์” และเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ที่มีเสียงเรียกขานว่า “วีเท็ก” ระดับหนึ่งก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสามเครื่องหมายแล้ว เห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์มีอักษรโรมัน 5 ตัวอักษร ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นมีอักษรโรมัน 6 ตัวอักษร และมีอักษรที่ต่างกัน 2 ตัวอักษร คือ ตัวอักษร “R” และตัว “X” เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วมีความแตกต่างกันพอสมควร ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วนั้น แม้มีจำนวนตัวอักษรเท่ากับเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์ แต่ก็มีความแตกต่างกันโดยเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีอักษรแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าดังกล่าว 2 ตัวอักษร คือ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีตัวอักษร “C” และ “H” เหมือนของบุคคลอื่น ส่วนของบุคคลอื่นก็ไม่มีอักษรตัว “I” และ “K” เหมือนของโจทก์ รูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นซึ่งจดทะเบียนไว้แล้ว ข้อสำคัญเมื่อพิจารณาถึงรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับใช้ในการควบคุมและตรวจจับสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยา เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” นั้น เป็นหลอดแก้วที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ทั้งตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของนายจตุพร พนักงานบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ ระบุว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์นั้นจะถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ส่วนสินค้าของบุคคลอื่นที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” นั้น ถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยา ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สินค้าย่อมเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวกับทางการแพทย์ซึ่งย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์เป็นอย่างดี จึงย่อมต้องทราบความแตกต่างระหว่างสินค้าประเภทเครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการควบคุมและตรวจหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ของโจทก์กับหลอดทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของบุคคลอื่นนั้น แม้จะจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 9 แต่รายการสินค้าเป็นเครื่องรับและส่งทางโทรคมนาคม เครื่องรับวิทยุ เครื่องขยายเสียง และเครื่องเชื่อมต่อทางโทรคมนาคม โทรศัพท์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับด้านการสื่อสารทางเสียง จึงไม่ใช่สินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์ซึ่งเป็นเครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์สำหรับใช้ในการควบคุมและตรวจจับสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งโจทก์ก็นำสืบว่า ช่องทางการจำหน่ายของโจทก์นั้น เป็นการขายโดยตรงต่อลูกค้าไม่มีการวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไปด้วย จึงเป็นการยากที่กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์จะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดสินค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นได้ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า “” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 717001 และเลขที่ 717003 ของโจทก์ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 13 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ดังนั้น จึงไม่จำต้องพิจารณาต่อไปว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “” มาโดยสุจริตหรือมีพฤติการณ์พิเศษอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อีกต่อไป เพราะเครื่องหมายการค้าคำว่า “” ของโจทก์ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสองของโจทก์จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ