แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรื่องใหม่ แต่มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่า คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. โดยให้ถือว่าผู้เสียหายอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง จึงมีสิทธิเพียงอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งเท่านั้น คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 จึงไม่มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่อาจฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาที่รับฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำผิด ตามมาตรา 46 จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 199, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวเปล่งศรี มารดาของนายชลิต ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าใช้จ่ายในการนำศพไปผ่าพิสูจน์ 7,000 บาท ค่าปลงศพ 100,000 บาท ค่าเสียหายแก่จิตใจ 900,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,007,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบปลอกกระสุนปืนของกลาง และยกคำร้องในคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 วรรคหนึ่ง กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติให้จำเลยปฏิบัติภายในเวลา 1 ปี ดังนี้
1. ห้ามมิให้เข้าไปในสถานที่หรือท้องที่ใดอันอาจชักนำให้กระทำความผิด
2. ห้ามมิให้ออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วย
3. ห้ามมิให้คบหาสมาคมกับบุคคลที่อาจชักนำไปสู่การกระทำความผิด
4. ห้ามมิให้ประพฤติตนอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิด
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในส่วนอาญาว่า ผู้ร้องมีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้องได้หรือไม่ ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่อยู่ในที่เกิดเหตุร่วมกับผู้มีชื่อและมีส่วนร่วมรู้เห็นกับการกระทำความผิดของผู้มีชื่อมาตั้งแต่เริ่มต้นโดยเมื่อผู้มีชื่อใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จำเลยก็ไม่รีบเร่งออกไปจากสถานที่เกิดเหตุเพื่อแจ้งเรื่องราวให้บุคคลอื่นทราบแต่กลับถอดเสื้อของตนให้ผู้มีชื่อเพื่อใช้ลากศพของผู้ตายไปทิ้งที่ใต้สะพานและยังขับรถจักรยานยนต์พาผู้มีชื่อหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้จริงนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิแก่ผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรื่องใหม่ แต่การยื่นคำร้องของผู้เสียหายดังกล่าว มาตรา 44/1 วรรคสอง คงบัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นเพียงคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยให้ถือว่าผู้เสียหายอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งจึงมีสิทธิเพียงอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งเท่านั้น ในเมื่อคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญา โดยผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 ผู้ร้องจึงไม่มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในส่วนคดีส่วนอาญาได้ ฎีกาของผู้ร้องดังกล่าวเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เมื่อผู้ร้องไม่ใช่โจทก์ร่วมในคดีอาญา ผู้ร้องจึงไม่อาจอุทธรณ์และฎีกาในคดีส่วนอาญาดังกล่าวได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องในส่วนนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้อง ในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดต่อผู้ตาย และต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายหรือไม่ เพียงใด ผู้ร้องฎีกาว่า การที่คำพิพากษาในคดีส่วนอาญาวินิจฉัยแต่เพียงว่า การที่จำเลยยอมถอดเสื้อให้ผู้มีชื่อซึ่งเป็นพวกของจำเลยเพื่อใช้ลากศพของผู้ตายเป็นการช่วยเหลือปกปิดซ่อนเร้นการตายเพื่อไม่ให้ผู้อื่นพบเห็น ทั้งยังขับรถจักรยานยนต์พาผู้มีชื่อกลับบ้าน อาจเป็นเพราะเกรงกลัวผู้มีชื่อ จำเลยย่อมตกอยู่ในภาวะจำยอม ถือว่าคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้อย่างชัดแจ้งว่า ไม่ถือว่าเป็นการมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับพวกแต่ประการใด การพิพากษาในคดีส่วนแพ่งจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนคดีอาญานั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยโดยตลอดแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิด แล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีส่วนอาญาย่อมยุติและถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถือได้ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยมิได้เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด แม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะมีทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาท และไม่ต้องห้ามให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญารับฟังเป็นที่ยุติดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า จำเลยไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลก็จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ข้อเท็จจริงในส่วนคดีแพ่งจึงต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง ฎีกาของผู้ร้องในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ