แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และฐานประกอบกิจการให้สินเชื่อภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับและมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวสามารถแยกจากกันได้ แม้จำเลยจะกระทำความผิดดังกล่าวในคราวเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ข้อ 5, 7, 8, 14, 16 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบบัญชีรายชื่อลูกค้าและนามบัตรของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1)) ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (ที่ถูก ลงวันที่ 26 มกราคม 2515) ข้อ 5 (ที่ถูก ข้อ 5 (3) (7), 16) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำคุก 1 ปี ฐานประกอบกิจการให้สินเชื่อภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 18 เดือน ริบบัญชีรายชื่อลูกค้าและนามบัตรของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำคุก 6 เดือน ฐานประกอบกิจการให้สินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกของจำเลยฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุก 12 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้แนบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ฉบับลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548 เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมาพร้อมกับคำฟ้อง ถือได้ว่าโจทก์ไม่ได้นำสืบหรือแสดงให้ศาลเห็นในชั้นพิจารณาว่ามีประกาศฉบับดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานประกอบกิจการให้สินเชื่อภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยฎีกาว่า คำฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไม่ปรากฏว่ามีชื่อบุคคลผู้กู้ยืมเงินว่าจะมีตัวตนจริงหรือไม่ ความผิดฐานนี้จึงขาดองค์ประกอบความผิดนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ข้อ 1.1 ว่า จำเลยให้บุคคลผู้มีชื่อจำนวนหลายคนกู้ยืมเงิน โดยให้กู้ยืมเงินไปเป็นจำนวนต้นเงินแตกต่างกันไป โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 20 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 240 บาทต่อปี ซึ่งเป็นการให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ และขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาตรา 4 จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว ส่วนรายชื่อบุคคลผู้กู้ยืมมิใช่องค์ประกอบความผิดที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้อง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดี จึงมิใช่ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด
ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยเกิดจากการกระทำความผิดครั้งเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษจำเลยได้เพียงความผิดฐานที่มีอัตราโทษสูงสุดได้เพียงกระทงเดียวนั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยความผิดฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และฐานประกอบกิจการให้สินเชื่อภายใต้กำกับโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับ และมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวสามารถแยกจากกันได้ แม้จำเลยจะกระทำความผิดดังกล่าวในคราวเดียวกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปกู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับธนาคาร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจำเลยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน หรือร้อยละ 240 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นจำนวนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการประกอบอาชีพบนความเดือดร้อนของผู้อื่นซึ่งเป็นผู้ตกทุกข์ได้ยากอยู่แล้ว โดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ทั้งปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่า จำเลยเคยถูกดำเนินคดีในความผิดลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน และศาลได้ให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โดยรอการลงโทษจำคุกไว้ แต่จำเลยยังหวนกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ แสดงว่าจำเลยไม่เข็ดหลาบและรู้สำนึกในความผิด จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย และโทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมานั้น นับว่าเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยทุกข้อล้วนฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน