คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2405/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าเช็คพิพาทมีการรวมดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายทบต้นไว้ในเช็คนั้นด้วยจึงเป็นโมฆะทั้งฉบับ ทั้งท้ายคำให้การยังมีคำขอให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของเงินที่เป็นดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะ แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ไม่ชอบ
เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้เดิมซึ่งจำเลยกู้ยืมจากโจทก์จำนวน 100,000 บาทโดยมีการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนรวมอยู่ด้วย ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ในการเรียกดอกเบี้ยเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 แต่โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องต้นเงิน เพราะส่วนของนิติกรรมที่เป็นโมฆะคือการคิดดอกเบี้ยอันเป็นหนี้อุปกรณ์ในนิติกรรมกู้ยืมเงินเท่านั้น ส่วนต้นเงินที่กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานยังสมบูรณ์อยู่แยกออกจากกันได้ สำหรับเช็คพิพาทเป็นนิติกรรมคนละอันกับนิติกรรมการกู้ยืม เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้กู้ยืมและโจทก์ยอมรับเอาเช็คนั้นแทนการชำระหนี้โดยใช้เงิน หนี้กู้ยืมจะระงับไปก็ต่อเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 โจทก์จึงมีสิทธิอาศัยเช็คพิพาทเป็นมูลหนี้ฟ้องจำเลยได้ แต่จำเลยคงต้องรับผิดเพียงต้นเงิน เพราะส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้วจำเลยจะไม่ยอม รับผิดตามเช็คเสียเลยไม่ได้ กรณีไม่ใช่เช็คพิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย 2 ฉบับโดยมีจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้เงินยืมเมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ โดยธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินตามเช็ค 227,549 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คฉบับจำนวนเงิน 36,000 บาท ส่วนฉบับจำนวนเงิน 191,549 บาท นั้น จำเลยเป็นหนี้โจทก์เพียง 100,000 บาท ส่วนที่เกินนั้นเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน และคิดดอกเบี้ยทบต้นหลายครั้งเงินในส่วนดอกเบี้ยที่เกินอัตรากฎหมายกำหนดจำนวน 91,549 บาทจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของเงินดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน136,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 36,000 บาท นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2533 กับดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาทเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 เป็นโมฆะทั้งฉบับ มิใช่ข้อที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ถือเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยพิพากษาอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์เป็นเงิน 1,000 บาท
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 มีการรวมดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายทบต้นไว้ในเช็คนั้นด้วย เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นโมฆะทั้งฉบับ เห็นว่า แม้จำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การว่าเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 ทั้งฉบับเป็นโมฆะ ทั้งท้ายคำให้การยังมีคำขอให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของเงินที่เป็นดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะ แต่กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาได้ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง และมาตรา 249 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 เป็นเช็คที่จำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้เดิมซึ่งจำเลยกู้ยืมจากโจทก์จำนวน 100,000 บาท โดยมีการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนรวมอยู่ด้วย ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะเพราะวัตถุประสงค์ในการเรียกดอกเบี้ยเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 แต่โจทก์ยังมีสิทธิเรียกร้องต้นเงินเพราะส่วนของนิติกรรมที่เป็นโมฆะคือการคิดดอกเบี้ยอันเป็นหนี้อุปกรณ์ในนิติกรรมกู้ยืมเงินเท่านั้น แต่ต้นเงินที่กู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานยังสมบูรณ์แยกออกจากกันได้ ส่วนเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.1 เป็นนิติกรรมคนละอันกับนิติกรรมการกู้ยืม เมื่อจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้กู้ยืม และโจทก์ยอมรับเอาเช็คนั้นแทนการชำระหนี้โดยใช้เงิน หนี้กู้ยืมจะระงับไปก็ต่อเมื่อเช็คได้ใช้เงินแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 ที่จำเลยฎีกาว่าเช็คพิพาทมีการรวมดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะทั้งฉบับ เป็นการนำเอาความไม่สมบูรณ์ในส่วนหนึ่งของนิติกรรมอันหนึ่งคือการกู้ยืมไปปนกับความสมบูรณ์ของนิติกรรมอีกอันหนึ่งคือตั๋วเงินซึ่งไม่มีเหตุผล เช็คพิพาทเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิอาศัยเช็คที่จำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้กู้ยืมเป็นมูลหนี้ฟ้องจำเลยได้ แต่จำเลยคงต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงต้นเงิน 100,000 บาท เพราะส่วนดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะไปแล้ว จำเลยจะไม่ยอมรับผิดตามเช็คเสียเลยไม่ได้ กรณีไม่ใช่เช็คพิพาทตกเป็นโมฆะทั้งหมดตามที่จำเลยฎีกา
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share