แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิด…กำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง…เมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง…” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ศาลจะกำหนดโทษใหม่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดก่อนวันที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังใช้บังคับ เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 และคดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 โดยศาลฎีกาพิพากษาเมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยอ่านให้จำเลยที่ 1 ฟังเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (เดิม) จำคุก 25 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 16 ปี 8 เดือน
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2551 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 แล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกามีคำพิพากษายืน ไม่มีเหตุที่จะกำหนดโทษตามคำร้องของจำเลยที่ 1 ยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า มีเหตุที่จะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิด….กำลังรับโทษอยู่ และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง….เมื่อผู้กระทำความผิดร้องขอ ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ….” บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ศาลจะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วได้ต้องเป็นกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และคดีถึงที่สุดก่อนวันที่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังใช้บังคับ เมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ซึ่งยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545 และคดีของจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 โดยศาลฎีกาพิพากษาเมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน