คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9412/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมคดีนี้นอกจากหัวข้อด้านบนจะระบุว่าพินัยกรรมแล้ว ยังมีข้อความต่อไปว่า “ข้าพเจ้า อ. ขอแสดงเจตนาเพื่อทำพินัยกรรมขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ ที่ดินตาม… ข้าพเจ้าขอยกให้แก่… แต่เพียงผู้เดียว” และ “ข้อกำหนดพินัยกรรมนี้เป็นไปตามเจตนาของข้าพเจ้าทุกประการ” ถ้อยคำดังกล่าวบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า อ. มีเจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรมนั้นเมื่อ อ. ตาย หาใช่มีเจตนายกให้ขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ทั้งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่า “พินัยกรรม” ไว้ว่า “เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย” ดังนี้ จึงถือได้ว่า อ. ได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้แล้ว
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 มิใช่แบบของพินัยกรรมที่บังคับให้ต้องระบุข้อความกำหนดการเผื่อตายโดยต้องมีคำว่า “เผื่อตาย” ระบุไว้โดยชัดแจ้ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า พินัยกรรมตามฟ้องไม่เป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอ่อนผู้ตายไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 1925 , 2177 , 2222 , 2226 เป็นชื่อโจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินทั้ง 4 แปลง ดังกล่าว
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องกับฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ให้มอบโฉนดที่ดินดังกล่าวทั้ง 4 แปลง แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ในวันนัดสืบพยาน โจทก์และจำเลยขอสละประเด็นทั้งหมดที่ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานไว้ และตกลงท้ากันโดยให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พินัยกรรมฉบับที่นางอ่อน ผู้ตายทำไว้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2526 ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้และมีผลใช้บังคับได้หรือไม่ ถ้าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมฉบับดังกล่าวถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้และมีผลใช้บังคับได้ ฝ่ายโจทก์ยอมแพ้ ถ้าพินัยกรรมฉบับดังกล่าวไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบังคับไว้และใช้บังคับไม่ได้ จำเลยยอมแพ้
ศาลชั้นต้นเห็นว่า หนังสือพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2526 ที่นางอ่อน ผู้ตายทำขึ้นเป็นพินัยกรรมถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ และมีผลใช้บังคับได้สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1647 และมาตรา 1656 โจทก์จึงต้องแพ้คดีตามคำท้า พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า พินัยกรรมที่นางอ่อนทำไว้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2526 ไม่มีข้อความกำหนดการเผื่อตายโดยไม่มีคำว่า “เผื่อตาย” ระบุไว้ จึงเป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายนั้น เห็นว่า พินัยกรรมในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางอ่อนผู้ตาย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1839/2538 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นพินัยกรรมตามคำท้าของคู่ความคดีนี้ นอกจากหัวข้อด้านบนจะระบุว่าพินัยกรรมแล้ว ยังมีข้อความต่อไปว่า “ข้าพเจ้านางอ่อน… ขอแสดงเจตนาเพื่อทำพินัยกรรมขึ้นไว้ดังต่อไปนี้ ที่ดินตาม… ข้าพเจ้าขอยกให้แก่… แต่เพียงผู้เดียว” และในย่อหน้าที่ 3 ตอนท้ายระบุว่า “ข้อกำหนดพินัยกรรมนี้เป็นไปตามเจตนาของข้าพเจ้าทุกประการ” ถ้อยคำดังกล่าวบุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่านางอ่อนมีเจตนาจะยกทรัพย์สมบัติให้แก่ผู้มีชื่อในพินัยกรรมนั้น เมื่อนางอ่อนตายหาใช่มีเจตนายกให้ขณะยังมีชีวิตอยู่ไม่ ทั้งตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายคำว่า “พินัยกรรม” ไว้ว่า “เอกสารแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินหรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย” ดังนี้ จึงถือได้ว่า นางอ่อนได้กำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้แล้ว
บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1646 มิใช่แบบของพินัยกรรมที่บังคับให้ต้องระบุข้อความกำหนดการเผื่อตายโดยต้องมีคำว่า “เผื่อตาย” ระบุไว้โดยชัดแจ้งดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเอกสารพินัยกรรมที่นางอ่อนทำไว้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2526 ถูกต้องตามแบบที่มาตรา 1647 และ 1656 กำหนดไว้ และมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน จำเลยไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share