แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอีเฟดรีนจำนวน 195 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อขาย โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำสืบแสดง พยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้เห็นสมจริงว่าจำเลยมี อีเฟดรีน ของกลางไว้เพื่อขาย การยึดได้ของกลางจำนวนดังกล่าวนี้ไม่แน่ว่าจำเลยจะมีไว้เพื่อขายเสมอไป และไม่อาจ สันนิษฐานว่าจำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายได้ เพราะพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติให้สันนิษฐานไว้เช่นนั้น ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยก็ปฏิเสธ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องสืบให้ได้ความเช่นนั้นแต่ข้อนำสืบนั้นต้องมิใช่ส่วนหนึ่งของคำรับที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นจับกุมหรือสอบสวนเมื่อโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยจำหน่ายจ่ายแจกหรือมีไว้ซึ่งของกลางเพื่อขายกรณียังมีข้อสงสัยตามสมควร จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัย ให้จำเลย คดีรับฟังได้เพียงว่าจำเลยมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอีเฟดรีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 195 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 3.025 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานยึดได้อีเฟดรีน 195 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ, 62, 89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 และริบของกลางที่เหลือให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ริบของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมด้วยอีเฟดรีนของกลางจำนวน 195 เม็ด ที่บ้านของจำเลย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจโทมนัส ฑิตะลำพูน และสิบตำรวจโทชัยณรงค์ ทับทิมเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความได้ความว่าวันเกิดเหตุเมื่อร้อยตำรวจโทมนัสพยานโจทก์ได้รับรายงานจากสายลับว่าที่บ้านของจำเลยมีการลักลอบขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จึงไม่ขอออกหมายค้นบ้านของจำเลยจากรองผู้บังคับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แล้ววางแผนจับกุม จากนั้นประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองได้ไปซุ่มดูอยู่ตรงข้ามบ้านของจำเลยซึ่งเปิดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวห่างกันประมาณ 20 เมตร ต่อมาเห็นคนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อขับมาจอดที่หน้าบ้านของจำเลยคนขับรถได้ลงไปพูดคุยกับจำเลย จำเลยหยิบสิ่งของจากบนตู้ก๋วยเตี๋ยวส่งให้ จากนั้นคนขับรถได้ขึ้นไปขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อขับออกไปประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองจึงเข้าไปหาจำเลยแสดงหมายค้นขอตรวจค้น พบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 191 เม็ดบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกซุกซ่อนอยู่ในกล่องกระดาษซุปไก่คนอร์ซึ่งวางอยู่บนตู้ก๋วยเตี๋ยว และพบอีก 4 เม็ด บรรจุอยู่ในหลอดกาแฟปิดหัวท้ายซุกซ่อนอยู่ในกล่องกระดาษในห้องนอนของจำเลยจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ร้อยตำรวจเอกประเสริฐ บุญจิตร พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนก็เบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.6 และจำเลยได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ปรากฏตามบันทึกเอกสารหมาย จ.7 และภาพถ่ายหมาย จ.3 เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากดังกล่าวต่างเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าเคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ที่จำเลยอ้างว่าถูกกลั่นแกล้งนั้น เห็นว่า อีเฟดรีนของกลางมีจำนวนถึง 195 เม็ด หากมีผู้ประสงค์จะกลั่นแกล้งจำเลยแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ของกลางจำนวนมากถึงเพียงนี้ เชื่อได้ว่าจำเลยมีอีเฟดรีนของกลางไว้ในครอบครองจริง มีปัญหาต่อไปว่าจำเลยมีอีเฟดรีนของกลางไว้เพื่อขายหรือไม่ ปัญหานี้จากคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองปากยังไม่ได้ความชัดว่าสิ่งของที่จำเลยส่งมอบให้คนขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อเป็นอีเฟดรีนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอีเฟดรีนจำนวน 195 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อขาย โจทก์ย่อมมีหน้าที่ต้องนำสืบแสดงพยานหลักฐานต่อศาลเพื่อให้เห็นสมจริงว่า จำเลยมีอีเฟดรีนของกลางไว้เพื่อขาย คดีนี้แม้จำนวนของกลางที่ยึดไว้มีเป็นจำนวน 195 เม็ด ก็ไม่แน่ว่าจำเลยจะมีไว้เพื่อขายเสมอไป และไม่อาจสันนิษฐานว่าจำเลยมีของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายได้ เพราะพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ไม่มีบทบัญญัติให้สันนิษฐานไว้เช่นนั้น ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยก็ปฏิเสธจึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบให้ได้ความเช่นนั้นแต่ข้อนำสืบนั้นจะต้องมิใช่ส่วนหนึ่งของคำรับที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นจับกุมหรือชั้นสอบสวน เมื่อโจทก์ไม่มีพยานรู้เห็นว่าจำเลยจำหน่ายจ่ายแจกหรือมีไว้ซึ่งของกลางเพื่อขายเช่นวิธีการล่อซื้อมาเบิกความต่อศาล กรณียังมีข้อสงสัยตามสมควร จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยมีอีเฟดรีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้นฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง,106 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 3 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ของกลางริบ คำขออื่นให้ยก