คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อเคยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อมาแล้วครั้งหนึ่งแต่เมื่อนำค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระ จำเลยก็รับชำระโดยคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ย ต่อมาโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้ออีก จำเลยไปยึดรถคืนโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างกับค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยไปชำระจำเลยก็รับชำระเช่นเดิม แสดงว่าจำเลยไม่ได้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเรื่องการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญสัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่สิ้นสุด เมื่อโจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างแล้วจำเลยต้องคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ จำเลยไม่ยอมคืนจึงเป็นผู้ผิดสัญญาเช่าซื้อ
เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งซึ่งในส่วนของการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสามให้ทำได้ด้วยการใช้เงิน เมื่อค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์เป็นเงินน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ต้องคืน ศาลจึงสามารถนำเงินค่าใช้ทรัพย์สินมาหักออกจากค่าเช่าซื้อที่ต้องคืนได้โดยจำเลยไม่จำต้องฟ้องแย้งไว้
เมื่อโจทก์ไม่มีรถพอใช้งาน โจทก์สามารถหารถอื่นมาทดแทนได้หากต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ต้องเสียค่าเช่า ค่าเช่าที่โจทก์ต้องเสียไปถือเป็นค่าเสียหายเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา โจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ได้ การที่โจทก์ไม่ดำเนินการดังกล่าวจนงานล่าช้าและถูกปรับค่าปรับไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากจำเลยผิดสัญญาโจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2538 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้ออีซูซุแบบเอ็นพีอาร์ 66 แอลแอ็กซ์ 5 ดั้ม หมายเลขเครื่องยนต์ 264367หมายเลขตัวถัง เอส 7101860 ไปจากจำเลยในราคา 786,200 บาทชำระเงินดาวน์ในวันทำสัญญา 250,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ48 งวด งวดละ 11,170 บาท กำหนดชำระงวดแรกวันที่ 6 กันยายน2538 งวดต่อไปทุกวันที่ 6 ของเดือนจนกว่าจะครบ โจทก์ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่จำเลยไม่ตรงกำหนด แต่โจทก์ก็ชำระทุกงวดตลอดมาจนกระทั่งโจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อประจำงวดวันที่ 6 ธันวาคม 2539 ถึงงวดวันที่ 6 มีนาคม 2540 รวม 4 งวด ครั้นวันที่ 26 มีนาคม2540 พนักงานของจำเลยได้ติดตามยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนไปจากโจทก์ซึ่งรถอยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2540 โจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยและเบี้ยปรับจำนวน51,891 บาท ไปชำระให้แก่จำเลย และจำเลยตกลงจะส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อคืนโจทก์ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2540 แต่เมื่อวันที่ 30มีนาคม 2540 โจทก์ไปติดต่อขอรับรถคันที่เช่าซื้อคืน จำเลยไม่ยอมส่งมอบให้ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบรถคันที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อจำนวน513,565 บาท ค่าเครื่องปรับอากาศที่โจทก์ติดตั้งในรถคันที่เช่าซื้อจำนวน 30,000 บาท และค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่สามารถใช้รถคันที่เช่าซื้อได้จำนวน 61,925 บาท ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 605,490 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า สัญญาเช่าซื้อที่โจทก์ทำกับจำเลยมีสาระสำคัญว่า หากผู้เช่าซื้อผิดนัดในการชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงทันที โดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อโจทก์ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 16 ประจำวันที่ 6 ธันวาคม2539 ถึงงวดที่ 19 ประจำวันที่ 6 มีนาคม 2540 สัญญาเช่าซื้อจึงสิ้นสุดลง โดยจำเลยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และจำเลยติดตามยึดรถคืนมาได้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2540 เงินที่โจทก์นำมาชำระภายหลังเป็นการชำระค่าเสียหายจำเลยมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาและไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน296,830 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3ข้อ 10 ตกลงว่าหากผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงทันที โจทก์เคยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดเดือนมิถุนายน 2539 ถึงงวดเดือนกันยายน 2539 มาครั้งหนึ่งแล้วแต่เมื่อโจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระ จำเลยก็ออกใบเสร็จรับเงินเป็นค่าเช่าซื้อตามงวดที่ค้างชำระย้อนหลังให้ โดยจำเลยคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ย ตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดเดือนธันวาคม 2539 ถึงงวดเดือนมีนาคม 2540 จำเลยได้ไปยึดรถคืนในวันที่ 26 มีนาคม 2540 ครั้นวันที่ 28 มีนาคม 2540 โจทก์นำเงินเท่าจำนวนค่าเช่าซื้อที่ค้างกับค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยไปชำระให้แก่จำเลย จำเลยก็ออกใบเสร็จรับเงินตามงวดที่ค้างชำระย้อนหลังให้เช่นเดิมอีก ตามเอกสารหมาย จ.5 พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยไม่ได้ถือเอาข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3ข้อ 10 เรื่องการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่สิ้นสุดลง เมื่อโจทก์นำเงินเช่าซื้องวดเดือนธันวาคม 2539ถึงงวดเดือนมีนาคม 2540 ไปชำระให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยต้องคืนรถที่เช่าซื้อแก่โจทก์ ข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยไม่ยอมคืน จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดสัญญาเช่าซื้อ เพราะไม่คืนรถให้แก่โจทก์ที่จำเลยฎีกาว่าในวันที่ 26 มีนาคม 2540 จำเลยมิได้ยึดรถแต่โจทก์ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนจำเลยเอง สัญญาเช่าซื้อจึงระงับไปตั้งแต่นั้นแล้วเห็นว่า จำเลยยึดรถที่เช่าซื้อไปในวันที่ 26 มีนาคม 2540 ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2540 โจทก์นำเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างไปชำระให้แก่จำเลย แสดงว่าโจทก์ยังต้องการรถนั้นอยู่ จึงไม่เชื่อว่าในวันนั้นโจทก์ได้ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนให้แก่จำเลย อันจะทำให้สัญญาเช่าซื้อระงับไปดังจำเลยอ้าง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาภายในระยะเวลาตามที่กำหนดก่อน แต่กลับนำคดีมาฟ้องร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5และ 6 ซึ่งเป็นหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถคืนให้แก่โจทก์เท่านั้นโดยไม่ได้ให้การว่า โจทก์มิได้บอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาก่อนดังนี้ ต้องถือว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้แก่จำเลยชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก ซึ่งในส่วนของการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสาม ให้ทำได้ด้วยการใช้เงินเมื่อค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์เป็นเงินน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ต้องคืนศาลจึงสามารถนำเงินค่าใช้ทรัพย์มาหักออกจากค่าเช่าซื้อที่ต้องคืนได้โดยจำเลยไม่จำต้องฟ้องแย้งไว้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า โจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าปรับเพราะโจทก์ส่งงานล่าช้าด้วยเหตุไม่ได้ใช้รถได้หรือไม่เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มีรถพอใช้งาน โจทก์สามารถหารถอื่นมาทดแทนได้ หากต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่นต้องเสียค่าเช่า ค่าเช่าที่โจทก์ต้องเสียไปถือเป็นค่าเสียหาย เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ได้ การที่โจทก์ไม่ดำเนินการดังกล่าวจนงานล่าช้าและถูกปรับ ค่าปรับไม่ใช่ความเสียหายอันเกิดจากจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกให้จำเลยชดใช้ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share