คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461-4462/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กฎหมายมิได้บัญญัติว่าการขอให้นับโทษต่อจะต้องกล่าวมาในคำฟ้องโจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้นับโทษต่อในภายหลังได้ คดีทั้งสองเรื่องโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลเดียวกันกระทำผิดข้อหาเดียวกัน แม้จำเลยจะเพียงแต่ไม่คัดค้านคำร้องไม่เคยรับไว้ในที่ใดว่าเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่คดีสองเรื่องนี้เป็นเรื่องโจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลยที่ศาลชั้นต้นแห่งเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกัน และต่อมาศาลสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน เมื่อโจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอให้นับโทษต่อมาชัดเจนและจำเลยทั้งสองคดีเป็นบุคคลคนเดียวกันแน่นอน การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งอย่างใดจนกระทั่งพิพากษา ต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องขอให้นับโทษต่อโดยปริยายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องทั้งสองสำนวนแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยแต่ละสำนวนเป็นความผิดสำนวนละ 2 กรรม ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำนวนแรกตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.10 จำคุก 1 ปี ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.12 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี สำนวนหลังตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.4/2 จำคุก 1 ปี ตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5/2จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 1 ปี ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนไม่ได้ขอให้พิพากษานับโทษของจำเลยติดต่อกันจึงนับโทษติดต่อกันให้ไม่ได้

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำเลย สำนวนแรกตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.12 จำคุก 4 เดือน สำนวนหลังตามเช็คพิพาทเอกสารหมาย จ.5/2 จำคุก 2 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองสำนวนมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 1 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีตามฟ้องทั้งสองสำนวนด้วยตนเองหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์กล่าวอ้างเรื่องนางเสงี่ยมมารดาโจทก์ยกที่ดินให้โจทก์โดยยังไม่จดทะเบียนมาลอย ๆ เป็นการนำสืบหักล้างพยานเอกสารต้องห้ามตามกฎหมาย โจทก์มิได้กระทำในฐานะที่เป็นเจ้าของที่ดิน แต่รับเช็คพิพาทในฐานะเป็นตัวแทนของนางเสงี่ยม เมื่อมิได้รับมอบอำนาจเป็นหนังสือจากนางเสงี่ยมผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนนั้น เห็นว่าที่โจทก์ฟ้องจำเลยก็เพราะโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของจำเลยทั้งสี่ฉบับตามฟ้องเช็คทุกฉบับเป็นเช็คระบุชื่อ มีชื่อ และนามสกุลของโจทก์ปรากฏอยู่ในช่องซึ่งแบบฟอร์มเช็คเว้นว่างไว้ให้กรอกข้อความว่าจ่ายให้แก่ผู้ใดในบริเวณด้านบนเมื่อเขียนไว้ว่าจ่ายเจริญ อิงควัฒน์ คือโจทก์ แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินย่อมเห็นได้ชัดว่าโจทก์เสียหาย เพราะไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะได้รับ ต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรงและมีอำนาจดำเนินคดีแก่จำเลยได้ ส่วนเรื่องนางเสงี่ยมและที่ดินนั้น เป็นเรื่องมูลหนี้ ซึ่งโจทก์จำเป็นจะต้องนำสืบให้ปรากฏเพราะตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 จะต้องเป็นการออกเช็ค เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จึงจะเป็นความผิดและศาลอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่า จำเลยออกเช็คทั้งสี่ฉบับตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ค่าที่ดินซึ่งต้องถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของ รวมทั้งค่าเสียหาย คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และมีปัญหาพิจารณาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 จึงไม่อาจฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้อีก ที่โจทก์นำสืบเรื่องนางเสงี่ยมและที่ดินเป็นการนำสืบให้เห็นมูลหนี้ ว่ามีหนี้อยู่จริงและบังคับได้ เป็นการนำสืบในขอบเขตอันจำเป็นที่จะต้องกระทำไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า ศาลพิพากษาให้นับโทษของจำเลยทั้งสองสำนวนต่อกันไปได้หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าการที่จำเลยไม่คัดค้านเมื่อโจทก์ยื่นคำร้อง จะถือว่าจำเลยยอมรับไม่ได้และศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอนุญาตในคำร้องของโจทก์ทั้งมิได้สั่งเรื่องนี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วยนั้น ปรากฏว่าคดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยโดยมิได้ขอมาในคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อแต่โจทก์ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีทั้งสองสำนวนเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541อ้างว่าจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลคนเดียวกัน กระทำผิดข้อหาเดียวกันเมื่อพิพากษาลงโทษจำเลย ขอให้นับโทษในคดีทั้งสองเรื่องต่อกันไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องฉบับหนึ่งว่า “สำเนาให้จำเลย สั่งในรายงาน” จำเลยได้รับสำเนาคำร้องทั้งสองฉบับแล้วมิได้คัดค้าน แต่หลังจากนั้นศาลชั้นต้นก็มิได้มีคำสั่งว่า อนุญาตหรือไม่อนุญาตไม่ว่าจะในคำร้องหรือในรายงานกระบวนพิจารณา เห็นว่า การขอให้นับโทษต่อนี้ มิได้มีกฎหมายบัญญัติว่าจะต้องกล่าวมาในคำฟ้อง โจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้นับโทษต่อในภายหลังได้ คดีทั้งสองเรื่องนี้ โจทก์ยื่นคำร้องบรรยายมาแล้วว่า จำเลยทั้งสองสำนวนเป็นบุคคลเดียวกันกระทำผิดข้อหาเดียวกัน แม้จำเลยจะเพียงแต่ไม่คัดค้านคำร้องไม่เคยรับไว้ในที่ใดว่าเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่คดีสองเรื่องนี้เป็นเรื่องโจทก์คนเดียวกันฟ้องจำเลย ที่ศาลชั้นต้นแห่งเดียวกันในเวลาใกล้เคียงกัน และต่อมาศาลสั่งให้รวมการพิจารณาด้วยกันข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่า ที่โจทก์อ้างมาในคำร้องนั้นเป็นความจริงทุกอย่าง ไม่มีปัญหาว่าจำเลยแต่ละคนอาจจะมิได้เป็นบุคคลคนเดียวกันอันจะทำให้ไม่อาจนับโทษต่อได้ เมื่อโจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอให้นับโทษต่อมาชัดเจนและจำเลยทั้งสองคดีเป็นบุคคลคนเดียวกันแน่นอนแม้จะมิได้แถลงรับก็เห็นประจักษ์อยู่แล้วเช่นนี้ย่อมไม่มีทางที่ศาลชั้นต้นจะสั่งคำร้องของโจทก์เป็นอย่างอื่นไปได้ นอกจากสั่งอนุญาต การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดจนกระทั่งพิพากษา ต้องถือว่าศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องขอให้นับโทษต่อโดยปริยายมิได้ท้วงติงแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้นับโทษต่อมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share