แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ และมาตรา 27 นั้นให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 208 (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้) แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 575,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 เพิ่งทราบว่าถูกฟ้องต่อศาล ขอให้พิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่เป็นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 จึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง การส่งหมายนัดและการส่งคำบังคับให้แก่จำเลยที่ 2 โดยพนักงานเดินหมายเป็นการส่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง คือบ้านเลขที่ 117 หมู่ที่ 1 ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง มิได้เป็นบ้านชั้นเดียว หรือบ้านปูนชั้นเดียว หรือบ้านตึกชั้นเดียว ตามรายงานของพนักงานเดินหมายที่ได้รายงานต่อศาลชั้นต้น แต่บ้านของจำเลยที่ 2 เป็นบ้านสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นสองเป็นไม้ จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง หมายนัด หรือหมายบังคับคดี จากพนักงานเดินหมาย พนักงานเดินหมายไม่เคยนำหมายใด ๆ ไปส่งแก่จำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่เคยทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 2 ถูกฟ้องต่อศาล จึงมิได้เข้าไปต่อสู้คดี ข้ออ้างตามคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่ 2 มีความหมายชัดเจนเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่า พนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการ ส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ ตามมาตรา 27 ที่ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาล ก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกขึ้นอ้างว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ววินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยที่ 2 มิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 208 วรรคสองนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในกรณีเช่นว่านี้ คู่ความฝ่ายที่เสียหายชอบที่จะยกขึ้นซึ่งข้อค้านในเรื่องผิดระเบียบนั้นภายในแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสองด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีนี้เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2542 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้วปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน