คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5815/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อที่จำเลยฎีกาว่าบัญชีเงินกู้ที่พิพาทเป็นเอกสารปลอมและเป็นสำเนาไม่ถูกต้องนั้น เมื่อโจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระคิดเป็นดอกเบี้ยจำนวนที่แน่นอนแล้ว แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้หรือปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวแต่ประการใด จึงถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ข้อเท็จจริงต้องฟังตามคำฟ้องว่าจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวโดยไม่ต้องสืบพยาน เมื่อบัญชีเงินกู้ที่พิพาทเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าบัญชีเงินกู้เป็นเอกสารที่รับฟังไม่ได้เพราะเป็นเอกสารปลอมและเป็นสำเนาไม่ถูกต้องหรือไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,776,025.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,233,461.74 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเบี้ยประกันภัยครั้งละ 6,301 บาท ทุก 3 ปี ต่อครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์ไม่บรรยายว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยจำนวน 541,563.65 บาท ตามฟ้องอย่างไรดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวมาจากต้นเงินจำนวนเท่าใด ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละเท่าไร จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 3,775,025.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,233,461.74 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 22 กรกฎาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 66008 ตำบลสวนหลวง(พระโขนงฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเคลือบคลุมหรือไม่ปรากฏตามคำฟ้องข้อ 2 โจทก์บรรยายว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไปจำนวน 3,500,000 บาท โดยมีข้อตกลงยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จะชำระดอกเบี้ยพร้อมกับผ่อนต้นเงินให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนรวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 52,800 บาท ภายในทุกวันที่ทำสัญญากู้เงินของทุกเดือนตลอดไปนับแต่เดือนถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น หากผิดนัดไม่ชำระเงินดังกล่าวงวดหนึ่งงวดใดยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดคืนได้ทันที และหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี ยอมให้โจทก์ทบจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นต้นเงินในวันที่ค้างชำระครบ 1 ปี นั้น ถือเป็นต้นเงินใหม่ที่จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามสัญญาต่อไปจนกว่าจะชำระหนี้โจทก์เสร็จสิ้นและยอมให้โจทก์ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่โจทก์เห็นสมควรเมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบล่วงหน้า และตามคำฟ้องข้อ 4 โจทก์บรรยายว่านับแต่จำเลยกู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์ จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนตามสัญญา ในระหว่างที่จำเลยกู้เงินไปจากโจทก์ โจทก์ได้ทำการปรับอัตราดอกเบี้ยที่คิดจากหนี้เงินกู้ของจำเลยจำนวน 16 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2538 จำเลยได้นำเงินมาชำระให้โจทก์จำนวน 52,800 บาท ซึ่งโจทก์หักชำระดอกเบี้ยจำนวน 36,168.02 บาท หักชำระเป็นต้นเงินจำนวน 16,631.98 บาท นับถึงวันฟ้องจำเลยมีหนี้จะต้องชำระให้แก่โจทก์คิดเป็นต้นเงินจำนวน 3,233,461.74 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 541,563.65 บาท ค่าติดตามทวงถามจำนวน 1,000 บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 3,776,025.39 บาท เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยได้บรรยายถึงหลักเกณฑ์ข้อตกลงตามสัญญาเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการชำระดอกเบี้ย การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย ครั้งสุดท้ายจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์เมื่อใด จำนวนเท่าใด ซึ่งโจทก์หักเป็นเงินดอกเบี้ยและต้นเงินจำนวนเท่าใด และนับถึงวันฟ้องจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์คิดเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวนเท่าใด ทั้งโจทก์ได้แนบสำเนาสัญญากู้เงิน สำเนาเอกสารการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและสำเนาบัญชีเงินกู้มาท้ายฟ้องด้วย จึงเป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ส่วนดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องได้คิดคำนวณมาถูกต้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า บัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.12 เป็นเอกสารปลอมและเป็นสำเนาไม่ถูกต้อง จึงเป็นเอกสารที่รับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่โจทก์คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน 541,563.65 บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยมิได้ให้การต่อสู้หรือปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำนวนดอกเบี้ยที่ค้างชำระดังกล่าวแต่ประการใดเลย ดังนั้น จึงถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงในส่วนนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ข้อเท็จจริงต้องฟังตามคำฟ้องว่าจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จำนวน 541,563.65 บาท โดยไม่ต้องสืบพยาน เมื่อบัญชีเงินกู้เอกสารหมาย จ.12 ที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าบัญชีเงินกู้เป็นเอกสารที่รับฟังไม่ได้เพราะเป็นเอกสารปลอมและเป็นสำเนาไม่ถูกต้องหรือไม่ แม้ศาลล่างทั้งสองจะได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share