คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8879/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กำหนดอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 นั้นจะต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายที่เกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้บังคับอยู่ แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สำหรับกรณีที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้วนำรถยนต์ไปขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เงินที่ยังขาดอยู่นี้เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 563 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายชัยวัฒน์ดำเนินคดีแทนและมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ นายชัยวัฒน์มอบอำนาจช่วงให้นายยศพนธ์เป็นผู้ดำเนินคดีนี้แทน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ-1183 กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ในราคา 353,520 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละ 9,820 บาท รวม 36 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 15 เมษายน 2539 และงวดต่อ ๆ ไป ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปโดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดประจำวันที่ 15 กันยายน 2539 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้พร้อมส่งมอบรถยนต์คืน แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2540 โจทก์ติดตามยึดรถยนต์คืนได้ในสภาพชำรุด โดยเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์คืนเป็นเงิน 3,100 บาท และนำรถยนต์ออกประมูลขายได้เงินเพียง 231,000 บาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดราคา โดยโจทก์ขอคิดเพียง 50,000 บาท และขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ออกให้บุคคลอื่นเช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันรับรถยนต์คืนเป็นเวลา 171 วัน รวมเป็นเงิน 51,300 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 104,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 57,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินเดือนดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 16,600 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อ 2.4 ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีกำหนดอายุความ 6 เดือน นับแต่รับคืนทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 มิใช่มีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า กำหนดอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่ส่งคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 นั้น จะต้องเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการใช้รถบุบสลายที่เกิดขึ้นในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลใช้บังคับอยู่ แต่คดีนี้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อจนโจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการนำรถยนต์ออกให้เช่าการฟ้องเรียกค่าเสียหายเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 สำหรับกรณีที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแล้วนำรถยนต์ไปขายทอดตลาดได้เงินน้อยกว่าค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เงินที่ยังขาดอยู่นี้เกิดขึ้นหลังจากสัญญาเช่าซื้อได้เลิกกันแล้ว กรณีไม่ต้องด้วยอายุความ 6 เดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 563 เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความใช้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เช่นเดียวกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share