คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8872/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์เคยขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยอ้างเหตุไม่มีพยานมาศาล เพราะโจทก์ยังไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นอาศัยหลักประโยชน์แห่งความยุติธรรมอนุญาตให้เลื่อนคดี เมื่อถึงวันนัดซึ่งโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ก็ยังไม่มาศาลอีก โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนได้ความว่า โจทก์ยังไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน นอกจากนี้ศาลชั้นต้นได้ให้เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกโจทก์หลายครั้งตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา จนถึง 11.50 นาฬิกา และยังให้เจ้าหน้าที่ติดตามโจทก์ตามห้องพิจารณาต่าง ๆ อีกตั้งแต่เวลา 11 นาฬิกา ถึง 11.50 นาฬิกา ทั้งยังได้โทรศัพท์แจ้งโจทก์ถึงเหตุที่ไม่มาศาลเพื่อให้โจทก์ดำเนินการอย่างไรต่อไปกับคดีนี้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด แต่โจทก์ก็ยังไม่มาศาล แม้โจทก์จะอ้างว่า ก. พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนเจ็บป่วยซึ่งโดยพยาธิสภาพของ ก. ทำให้หลงลืมที่จะมอบสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการคนอื่นดำเนินการแทน กรณีเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องมอบหมายสำนวนให้พนักงานอัยการผู้อื่นดำเนินคดีแทน ซี่งสามารถกระทำได้ เพราะวันดังกล่าว ก. ยังมาทำงานที่สำนักงานอัยการอยู่ ถ้าป่วยเจ็บจนถึงขนาดไม่สามารถมาศาลเพื่อสีบพยานโจทก์ได้ ก็น่าจะมอบหมายให้พนักงานอัยการผู้อื่นทำหน้าที่แทนหากกลับบ้านไปพักรักษาตัว แต่ก็หาได้กระทำไม่ อันเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มาศาลเพราะไม่สนใจต่อเวลานัดของศาลและไม่ได้มาศาลตามกำหนดนัด หาใช่ไม่ได้มาศาลเพราะมีเหตุอันสมควรไม่ จึงไม่มีเหตุจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181
โจทก์ยื่นคำร้องว่า วันนัดสืบพยานโจทก์ เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นโทรศัพท์ไปที่สำนักงานของโจทก์เพื่อแจ้งให้นายกิตติพงษ์พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนไปศาล เจ้าหน้าที่ธุรการของสำนักงานของโจทก์ให้นายกิตติพงษ์ทราบแล้ว แต่นายกิตติพงษ์ป่วยกะทันหันและกลับบ้านไปรักษาตัวโดยไม่ใด้แจ้งอัยการจังหวัดหรือพนักงานอัยการคนอื่นทราบ และไม่ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการคนอื่นดำเนินคดีแทน ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่ามีเหตุสมควรที่จะให้ยกคดีของโจทก์คือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 นายกิตติพงษ์พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนป่วย ปรากฏตามใบรับรองการเจ็บป่วยของคลินิกประสงค์การแพทย์ ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2545 ที่โจทก์อ้างส่งศาล ซึ่งในใบรับรองการเจ็บป่วยดังกล่าวได้รับรองว่านายกิตติพงษ์ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ควรพักผ่อนรักษาตัว 3 วัน ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เคยขอเลื่อนคดีมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยอ้างเหตุไม่มีพยานมาศาล เพราะโจทก์ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ซึ่งศาลชั้นต้นอาศัยหลักประโยชน์แห่งความยุติธรรมอนุญาตให้เลื่อนคดี เมื่อถึงวันนัดซึ่งโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้ว แต่โจทก์ก็ยังไม่มาศาลอีก โดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสำนวนได้ความว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน นอกจากนี้ศาลชั้นต้นได้ให้เจ้าหน้าที่ประกาศเรียกโจทก์หลายครั้งตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา จนถึง 11.50 นาฬิกา และยังให้เจ้าหน้าที่ติดตามโจทก์ตามห้องพิจารณาต่าง ๆ อีกตั้งแต่เวลา 11 นาฬิกา ถึง 11.50 นาฬิกา ทั้งยังได้โทรศัพท์แจ้งโจทก์ถึงเหตุที่ไม่มาศาลเพื่อให้โจทก์ดำเนินการอย่างไรต่อไปกับคดีนี้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ดตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2545 แต่โจทก์ก็ยังไม่มาศาล แม้โจทก์จะอ้างว่านายกิตติพงษ์พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนเจ็บป่วยซึ่งโดยพยาธิสภาพของนายกิตติพงษ์ทำให้หลงลืมที่จะมอบสำนวนคดีนี้ให้พนักงานอัยการคนอื่นดำเนินการแทน กรณีเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องมอบหมายสำนวนให้พนักงานอัยการผู้อื่นดำเนินคดีแทน ซึ่งสามารถกระทำได้ เพราะวันดังกล่าวนายกิตติพงษ์ยังมาทำงานที่สำนักงานอัยการอยู่ ถ้าป่วยเจ็บจนถึงขนาดไม่สามารถมาศาลเพื่อสืบพยานโจทก์ได้ ก็น่าจะมอบหมายให้พนักงานอันเป็นความบกพร่องของโจทก์เอง พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่มาศาลเพราะไม่สนใจต่อเวลานัดของศาล และไม่ได้มาศาลตามกำหนดนัด หาใช่ไม่ได้มาศาลเพราะมีเหตุอันสมควรไม่จึงไม่มีเหตุจะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ฎีกาของโจทก์ประการอื่นมิใช่เหตุอันสมควรที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่แต่อย่างใด ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share