คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8832/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 136 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความกันได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ บริษัท ม. และบริษัท ข. ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม โจทก์ บริษัท ม. บริษัท ข. และจำเลยที่โจทก์ถอนฟ้องไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งต่อกันอีก ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาถอนฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารเป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารกับถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ. มาตรา 39 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 326, 328, 90, 91, 83, 50 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 48 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดครึ่งหน้าในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น หนังสือพิมพ์แนวหน้า หนังสือพิมพ์ข่าวสด เป็นเวลา 15 วัน และห้ามจำเลยทั้งสามประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษตามคำพิพากษา และขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำของศาลต่าง ๆ ตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 แถลงว่า ชื่อ คาน คอดิน เป็นชื่อนามปากกาซึ่งมีผู้เขียนหลายคนใช้ชื่อนามปากกาดังกล่าวโดยไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดบ้าง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 5 เดือน และปรับ 50,000 บาท เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสจำเลยที่ 2 ปรับปรุงความประพฤติในหน้าที่บรรณาธิการของตนเอง จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยที่ 2 นำใจความของคำพิพากษาลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ข่าวสดมีกำหนด 5 วัน โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา คำขออื่นและข้อหาอื่นให้ยก กับให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสาม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คัดค้าน ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวและยังไม่ได้ให้การแก้คดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 เป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความกันได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 18 ตุลาคม 2547 ใจความว่า โจทก์ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัทข่าวสด จำกัด ตกลงกันได้เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่ประสงค์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม โจทก์ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) บริษัทข่าวสด จำกัด และจำเลยที่โจทก์ถอนฟ้อง ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งต่อกันอีก ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีเจตนาถอนฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ด้วย จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฎีกาในความผิดฐานดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษา และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร กับถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ได้ และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ”

Share