คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8801/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ขอพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่าได้ย้ายที่อยู่จากจังหวัดอุบลราชธานีไปอยู่กับบุตรสาวเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยที่จังหวัดเพชรบุรี จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเนื่องจากโจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ที่อยู่เดิมที่จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 2 เพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2546 คำร้องดังกล่าวเป็นการอ้างว่าการส่งหมายเรียกให้จำเลยที่ 2 มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งหากฟังได้ตามที่อ้าง กำหนดเวลาในการร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อยู่ในบังคับภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัด และให้พิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 41 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบถึงกำหนดนัดพิจารณาคดี ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 โดยยังไม่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้รับหมายเรียกให้มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยชอบแล้วหรือไม่ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ร่วมกันชำระเงินค่าสินค้าที่จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกไปกับเงินทดรองจ่ายที่จำเลยที่ 1 เบิกล่วงหน้าไปจากโจทก์เป็นเงินรวมทั้งดอกเบี้ยจำนวน 526,504.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 475,220 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลแรงงานกลางอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 ขาดนัดและขาดนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 475,220 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่
ศาลแรงงานกลางตรวจคำร้องของจำเลยที่ 2 แล้วให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 บัญญัติความว่า “ในกรณีที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 40 วรรคสอง หากจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเป็นการสมควรให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งตามมาตรา 40 และดำเนินกระบวนพิจารณาที่ได้กระทำหลังจากที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 40 นั่นใหม่ เสมือนหนึ่งมิได้เคยมีกระบวนพิจารณาเช่นว่านั้น” บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีตามมาตรา 37 โดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาลตามกำหนดโดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานทราบถึงเหตุที่จำเลยไม่มา เมื่อศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 40 วรรคสองแล้ว ในกรณีเช่นนี้หากจำเลยมาแถลงให้ศาลแรงงานทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ศาลแรงงานมีอำนาจไต่สวนถึงเหตุแห่งความจำเป็นนั้นได้ และหากเห็นว่าเป็นการสมควรก็ให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นใหม่ คดีนี้จำเลยที่ 2 ขอพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ได้ย้ายที่อยู่จากจังหวัดอุบลราชธานี ไปอยู่กับบุตรสาวเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยที่จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ปลายปี 2543 จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องคดีนี้เนื่องจากโจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ที่อยู่เดิมที่จังหวัดอุบลราชธานี จำเลยที่ 2 เพิ่งทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2546 ข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลยที่ 2 เป็นการอ้างว่าการส่งหมายเรียกให้จำเลยที่ 2 มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากฟังได้ตามที่จำเลยที่ 2 อ้าง กำหนดเวลาในการร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อยู่ในบังคับภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัด และให้พิจารณาคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียวตามบทกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบถึงกำหนดนัดพิจารณาคดีนั่นเอง ฉะนั้น การที่ศาลแรงงานกลางมีคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่เกินกว่า 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทราบว่าถูกฟ้องคดีนี้ (ที่ถูก “ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัด”) โดยที่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้รับหมายเรียกให้มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยชอบแล้วหรือไม่ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 และให้ศาลแรงงานกลางรับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2546 ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี

Share