คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนหมายจับ อ้างว่าคดีขาดอายุความแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำขอของจำเลยที่ 2 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน เพราะคดีต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงจำหน่ายคดีชั่วคราว ไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแล้ว การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหมายจับ จึงเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และ ป.อ. มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
วันนัดสอบคำให้การจำเลยและสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยที่ 2 หลบหนี ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 จำหน่ายคดีชั่วคราว โดยหมายจับลงวันที่ 8 กันยายน 2541 ให้จับจำเลยที่ 2 ไปส่งศาลภายในกำหนดอายุความ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2541
วันที่ 20 มิถุนายน 2546 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า บัดนี้ครบกำหนด 5 ปี เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2546 พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วยังไม่ได้ตัวจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดี สิทธิดำเนินคดีอาญาย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ขอให้ไต่สวนคำร้องและหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งยกคำขอ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ในระหว่างศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนหมายจับ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องของจำเลยที่ 2 ว่า เมื่อคดีขาดอายุความแล้ว หมายจับที่ออกย่อมไม่อาจใช้ได้อีกต่อไปทั้งในหมายจับมีเงื่อนเวลาสิ้นสุดระบุอยู่แล้ว เมื่อพ้นเวลาดังกล่าวย่อมไม่อาจดำเนินการตามหมายจับได้ในตัวเอง ไม่จำต้องมีคำสั่งเพิกถอนอีก เพราะหมายจับนั้นไม่มีผลทางกฎหมายให้ต้องเพิกถอน ไม่จำต้องไต่สวน ยกคำขอ จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน เพราะคดีจะต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ไม่ใช่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแล้ว ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหมายจับจำเลยที่ 2 จึงเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ไม่มีผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิฎีกา แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และยกฎีกาของจำเลยที่ 2.

Share