คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5089/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 20 ปี ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้อาวุธปืนและยานพาหนะ เป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4881/2536 ของศาลชั้นต้น ปัจจุบันจำเลยอยู่ในระหว่างการพักการลงโทษและจะพ้นโทษและพ้นจากการพักการลงโทษในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 อันเป็นวันภายหลังวันที่ 10 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 จะมีผลบังคับใช้กับจำเลยได้ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยยังคงเป็นผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 291, 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 32, 36, 43, 68, 70, 148, 157
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291, 300 พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 148, 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าควรปรับบทการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วยนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 มาด้วย แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่จำต้องปรับบทมาตรา 300 อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดโทษมาเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยมิได้คัดค้านว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 20 ปี ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้อาวุธปืนและยานพาหนะ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4881/2536 ของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งปัจจุบันจำเลยอยู่ในระหว่างการพักโทษและจะพ้นโทษและพ้นจากการพักการลงโทษในวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 อันเป็นวันภายหลังวันที่ 10 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ พ.ร.บ. ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พ.ศ. 2539 จะมีผลบังคับใช้ได้กับจำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยยังคงเป็นผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่ศาลฎีกาจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share