คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3447/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และร่วมเล่นกับจำเลยอื่นด้วยนั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมกับของกลางเพียงเล็กน้อย แม้จะจับผู้ร่วมเล่นการพนันได้ถึง 19 คน แต่การเล่นพนันดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นบ่อนการพนันขนาดใหญ่ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงยังอยู่ในเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับประพฤติตนเป็นคนดีและประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงครอบครัวต่อไป แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1 เข็ดหลาบยิ่งขึ้นสมควรกำหนดระยะเวลาในการรอการลงโทษให้นานขึ้นและกำหนดมาตรการในการคุมความประพฤติเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเก้าตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับ
จำเลยทั้งสิบเก้าให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบเก้ามีความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4, 5, 6, 10, 12, 15 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานจัดให้มีการเล่นการพนันและฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้จำคุกฐานละ 4 เดือน และปรับฐานละ 2,000 บาท ฐานเล่นการพนันปรับ 1,600 บาทรวมจำคุก 8 เดือน ปรับ 5,600 บาท ส่วนจำเลยอื่นปรับคนละ 1,600 บาท จำเลยทั้งสิบเก้าให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงลดลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,200 บาท ส่วนจำเลยอื่นปรับคนละ 1,200 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ริบของกลาง และให้จำเลยทั้งสิบเก้าจ่ายเงินสินบนนำจับคนละกึ่งหนึ่งของค่าปรับ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอัยการพิเศษประจำเขต 1ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยที่ 1 โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก่อนที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1กระทำความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และร่วมเล่นกับจำเลยอื่นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานเล่นการพนัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้จำคุก 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท ฐานเล่นการพนันปรับ 1,600 บาท นั้นไม่ถูกต้องปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ปัญหาที่วินิจฉัยต่อไปคือสมควรรอการลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมกับของกลางเพียงเล็กน้อยแม้ว่าจะจับผู้ร่วมเล่นการพนันได้ถึง 19 คน ก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์แล้วยังไม่อาจแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าการเล่นการพนันดังกล่าวมีลักษณะเป็นบ่อนการพนันขนาดใหญ่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนจึงยังอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขฟื้นฟูให้กลับตัวเป็นคนดีได้ จึงสมควรรอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยที่ 1 กลับประพฤติตนเป็นคนดีและประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงครอบครัวต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยที่ 1เข็ดหลาบยิ่งขึ้นสมควรกำหนดระยะเวลาในการรอการลงโทษให้นานขึ้นและกำหนดมาตรการในการคุมความประพฤติเสียใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานจัดให้มีการเล่นการพนันและฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ จำคุกฐานละ 4 เดือน และปรับฐานละ 2,000 บาทรวมจำคุก 8 เดือน และปรับ 4,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกจำเลยที่ 1 ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ฟังโดยให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง มีกำหนด 2 ปี ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยที่ 1 ละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 1 เห็นสมควร มีกำหนด30 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share