คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในระหว่างการก่อสร้าง บ้านจำเลยได้มีการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม แรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มอาจทำให้กำแพงรั้วคอนกรีตและตัวบ้านเสียหาย โจทก์ได้สั่งให้จำเลยแก้ไขแล้วแต่จำเลยกลับเพิกเฉยและยังใช้ ปั้นจั่นตอกเสาเข็มต่อไปจนเสร็จ โดยไม่ได้แก้ไขเรื่องแรง สั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องตอกเสาเข็มแต่อย่างใด อีกทั้งมิได้หาทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านโจทก์ และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทำให้กำแพงรั้วคอนกรีต คานและหลังคา ค.ส.ล. บนกำแพง รั้วคอนกรีตของบ้านโจทก์ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆที่ติดอยู่ภายในกำแพงรั้วคอนกรีต ได้รับความเสียหายนั้น เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดจาก การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 ซึ่งเป็นเรื่องผู้ว่าจ้าง ทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อ ให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะ ตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใคร และมีส่วนผิด ในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร และแม้ความรับผิดตามมาตรา 420 อาจซ้อนกับมาตรา 428 ได้ แต่คำฟ้องโจทก์ก็จะต้องแสดง ให้แจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็น หลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิด ตามมาตรา 428 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 94 ซอยสุขุมวิท 85แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกันยายน 2535ถึงเดือนธันวาคม 2535 จำเลยได้ก่อสร้างบ้านเลขที่ 88 ซอยสุขุมวิท 85 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยในระหว่างก่อสร้างจำเลยได้ตอกเสาเข็มเป็นเหตุให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทำให้กำแพงรั้วคอนกรีต คานและหลังคา ค.ส.ล. บนกำแพงรั้วคอนกรีตทรุดตัวและแตกร้าว รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่ติดอยู่ภายในกำแพงรั้วของโจทก์เสียหายเป็นเงิน80,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างพันโทพรเทพ พิริยะโยธินเป็นผู้ก่อสร้างโดยใช้ความระมัดระวังในการเลือกผู้รับจ้างแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องคำขอหรือไม่ คดีนี้มีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา 40,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า กำแพงรั้วของโจทก์เกิดความเสียหายจากการตอกเสาเข็มของพันโทพรเทพ พิริยะโยธินผู้รับจ้างก่อสร้างจากจำเลย โดยจำเลยได้คอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดเวลาถือว่าการตอกเสาเข็มเป็นไปตามคำสั่งของจำเลยโดยตรง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในระหว่างการก่อสร้างบ้าน จำเลยได้มีการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม ปรากฏว่าแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็มโจทก์เกรงว่าอาจทำให้กำแพงรั้วคอนกรีตและตัวบ้านเสียหาย โจทก์ได้สั่งให้จำเลยแก้ไขแล้วแต่จำเลยกลับเพิกเฉยและยังใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มต่อไปจนเสร็จ โดยไม่ได้แก้ไขเรื่องแรงสั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องตอกเสาเข็มแต่อย่างใด อีกทั้งมิได้หาทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านโจทก์ และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลย ทำให้กำแพงรั้วคอนกรีต คานและหลังคา ค.ส.ล. บนกำแพงรั้วคอนกรีตของบ้านโจทก์ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่ติดอยู่ภายในกำแพงรั้วคอนกรีตได้รับความเสียหาย เห็นว่าตามคำฟ้องโจทก์เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดจากการกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ซึ่งเป็นเรื่องผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้างเว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใคร และมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร อนึ่ง แม้ความรับผิดตามมาตรา 420 อาจซ้อนกับมาตรา 428 ได้ แต่คำฟ้องโจทก์ก็จะต้องแสดงให้แจ้งชัดสภาพแห่งข้อหาและคำขอคำบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิด ตามมาตรา 428 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาอีกข้อหนึ่งของจำเลยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share