คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้จำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้กู้จากโจทก์ เป็นแต่เคยเซ็นชื่อในหนังสือกู้ให้จำเลยที่ 3 ไว้ และจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของเงิน ภายหลังหนังสือกู้ไปตกอยู่ที่โจทก์โดยภรรยาจำเลยเอาไปให้โจทก์ดังนี้ จำเลยนำพะยานมาสืบได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่๑ ที่ ๒ กู้เงินโจทก์ไป ๑๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยผิดนัด ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ให้การว่าไม่เคยกู้เงินโจทก์และไม่ได้ทำสัญญากู้ให้โจทก์เป็นแต่เอาเงินของจำเลยที่ ๓ ผู้เป็นน้องไปใช้ และภายหลังจำเลยที่ ๓ เอาหนังสือมาให้ลงลายมือชื่อ จึงได้ลงให้โดยไม่รู้ข้อความ และทั้งไม่มีพะยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือด้วย สัญญาฉะบับนั้นก็ไม่ได้กำหนดดอกเบี้ย ซึ่งถ้าจะเสียก็ควรเสียร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่เจ้าของเงิน
จำเลยที่ ๓ ให้การว่าสัญญานี้เกิดขึ้นโดย น.ภริยาจำเลยที่ ๓ เคี่ยวเข็ญให้เอาไปให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทำสัญญาให้และลงชื่อน้องสาว น. คือโจทก์นี้เป็นเจ้าของเงินจำเลยที่ ๓ ก็ยอม และทั้งยังลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ต่อมา น.เอาใจออกห่างขนทรัพย์รวมทั้งสัญญากู้นี้หนีไป แล้วหวนกลับมาฟ้องจำเลย ฉะนั้นเมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของเงินกู้ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์สืบพะยานแล้ว ศาลชั้นต้นกะประเด็นให้จำเลยสืบพะยานแต่เพียง ๓ ข้อคือ
๑.ดอกเบี้ยตามธรรมเนียมนั้นอย่างไร
๒.จำเลยไม่ใช้พิมพ์ลายมือในสัญญาประกันที่โจทก์ฟ้อง
๓.จำเลยได้ลงชื่อพิมพ์ลายมือโดยไม่รู้ว่าเป็นสัญญากู้และค้ำประกัน ส่วนข้ออื่นให้งด จำเลยทั้ง ๓ จึงแถลงว่าไม่ติดใจสืบพะยานตามประเด็นที่ศาลกะ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลฎีกาเห็นว่าคดีเรื่องนี้จำเลยได้ต่อสู้มาแต่แรกแล้วว่า เงินตามสัญญากู้นั้นเป็นเงินของจำเลยที่ ๓ ไม่ใช่ของโจทก์ โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้จึงเป็นประเด็นที่จำเลยขอสืบได้ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษาให้จำเลยนำพะยานมาสืบในข้อนี้ เมื่อเสร็จแล้วถ้าโจทก์ประสงค์จะสืบแก้ก็ให้สืบได้ แล้วให้ศาลเดิมตัดสินเสียใหม่ตามประเด็น

Share