แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นได้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาจนกระทั่งจำเลยให้การและศาลนัดชี้สองสถานแล้ว จึงได้พบเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาทั้ง ๆ ที่แต่ละคนสามารถฟ้องได้โดยลำพังตนเอง น่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาล จึงได้กำหนดเวลาให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลเสียให้ถูกต้อง อันเป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ไม่ใช่มาตรา 18 วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ก็เป็นการทิ้งฟ้อง ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความได้ตาม มาตรา 132 และกรณีนี้ไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งที่ศาลจะมีอำนาจสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้โจทก์ได้ตาม มาตรา 151 ในกรณีที่ทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันได้ หรือโจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องที่สามารถจะฟ้องคดีได้โดยลำพังตนเอง หากโจทก์ฟ้องรวมกันเป็นคดีเดียว ค่าขึ้นศาลต้องคำนวณตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยต่างเป็นทายาทของเจ้ามรดก จำเลยได้ร่วมกันยักย้านหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล จำเลยจึงต้องถูกจำกัดมิให้ได้รับมรดก ขอให้ศาลบังคับจำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ถูกจำกัดมิให้ได้รับมรดกรวมเป็นเงิน 76,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกที่เหลือให้โจทก์ทั้งห้าใน 12 ส่วนเป็นเงิน 21,741,666.66 บาท
จำเลยให้การว่า ฟ้องขาดอายุความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 และเกี่ยวกับที่มาและความเป็นอยู่ของทรัพย์มรดกเคลือบคลุม มรดกตกได้แก่มารดาจำเลยทั้งห้า มารดาจำเลยและจำเลยจัดการทรัพย์มรดกเสร็จสิ้นไปแล้ว
โจทก์และจำเลยต่างยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวระหว่างพิจารณาวันนัดไต่สวนขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์แต่ละคนฟ้องคดีได้โดยลำพัง ทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องจะต้องแบ่งแยกกัน โจทก์รวมกันเสียค่าขึ้นศาลมาไม่ถูกต้องให้โจทก์แต่ละคนเสียค่าขึ้นศาลในส่วนของตนคนละ 200,000 บาท ภายในกำหนด 30 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้จำหน่ายคดี
โจทก์ไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้า
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงว่าหาเงินมาเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มไม่ได้จะใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อไป ศาลชั้นต้นจึงสั่งจำหน่ายคดี คำสั่งของศาลชั้นต้นมีผลอย่างเดียวกับไม่รับคำคู่ความ คือไม่รับฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในต้อนท้ายมาตรา 18 วรรคสอง คำสั่งนี้จึงอุทธรณ์และฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 และ 226, 227 เป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมายและเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับวินิจฉัยนั้น เห็นว่าตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ศาลชั้นต้นได้รับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว จำเลยให้การและศาลนัดชี้สองสถานแล้ว จึงได้พบเห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาทั้ง ๆ ที่แต่ละคนสามารถฟ้องได้โดยลำพังตนเอง น่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมศาล จึงได้กำหนดเวลาให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมศาลเสียให้ถูกต้อง อันเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ไม่ใช่มาตรา 18วรรคสอง เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ก็เป็นการทิ้งฟ้อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีจารสารบบความ โดยไม่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีคำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า กรณีที่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องจะต้องสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 นั้น เห็นว่าเป็นฎีกาที่สืบเนื่องมาจากฎีกาในข้อแรกของโจทก์ ซึ่งเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่ากรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 แต่เป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174(2)จึงไม่เข้าเหตุใดเหตุหนึ่งที่ศาลจะมีอำนาจสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151ดังนั้น ในกรณีนี้ศาลจึงไม่อาจสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้โจทก์ได้
ฎีกาข้อสุดท้ายของโจทก์ว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุแยกมาเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน จึงต้องถือว่าโจทก์ขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์และพบ่งมรดกให้โจทก์ทั้ง 5 คนร่วมกัน โดยนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2362/2515 นั้น คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 5 ว่าจำเลยยักย้ายทรัพย์มรดกคิดเป็นเงิน 76,000,000 บาท ข้อ 6 ราคาทรัพย์มรดกตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 8-14 รวมเป็นเงิน 52,180,000 บาท โจทก์ได้ตามข้อนี้คนละ 4,348,333.33 บาท รวมทั้งข้อ5 ข้อ 6 โจทก์ 5 คน ได้รวมกัน 97,741,666.66 บาท และโจทก์สรุปในตอนท้ายฎีกาว่า ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวให้ถือคำฟ้องเป็นหลัก ถ้าบรรยายฟ้องระบุแยกกันมาเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคนให้ถือเอาทุนทรัพย์ของแต่ละคนเป็นหลักว่าจะมีอำนาจฎีกาได้หรือไม่แต่ถ้าบรรยายฟ้องขอรวมกันมาก็ต้องถือเอาทุนทรัพย์ที่ขอรวมมาเป็นหลักในการคำนวณค่าขึ้นศาล เห็นว่า ในกรณีที่ทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันได้ หรือโจทก์แต่ละคนมีสิทธิเรียกร้องเป็นของตนเองสามารถจะฟ้องคดีได้โดยลำพังตนเองแล้ว หากโจทก์จะฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวตามที่โจทก์อาจจะเห็นว่าเป็นความสะดวก แต่การพิจารณาค่าขึ้นศาลก็ต้องคำนวณตามทุนทรัพย์ที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมิใช่ว่าถ้าฟ้องรวมกันมาในคดีเดียว ทั้ง ๆ ที่อาจจะแยกฟ้องได้ก็จะเสียค่าขึ้นศาลรวมกัน มิฉะนั้นแล้วโจทก์แต่ละคนก็อาจจะหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาลได้ การฟ้องรวมกันหรือแยกกันไม่มีผลทำให้ค่าขึ้นศาลเปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร คดีนี้ คำเรียกร้องของโจทก์เห็นได้ชัดเจนว่า โจทก์เรียกร้องมาคนละ 19,548,333.33 บาท ซึ่งโจทก์แต่ละคนต้องเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง (1) (ก) คนละ 200,000 บาทคำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นก็เป็นการทิ้งฟ้องดังกล่าวมาแล้ว ชอบที่ศาลชั้นต้นจะจำหน่ายคดีได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.