คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 507-508/2480

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นของโจทก์ที่ไม่ได้ว่ากล่าวมาในฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นบุตร์ ท.จำเลยที่ 3 เป็นบุตร์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2476 ท. ได้โอนที่ดินโฉนดที่ 3077 ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หา โดยได้ทำสัญญาโอนต่อเจ้าพนักงานลงชื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้เยาว์ โจทก์ฟ้องหาว่าการที่ ท.ลงชื่อจำเลยที่ 3 เพื่อให้ถือเป็นทรัสต์ไว้ให้โจทก์ โดยต่อมาวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2476 จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือทรัสต์ไว้ต่อหน้า ท.เป็นสำคัญว่า จำเลยที่ 3 ถือที่ดินนั้นไว้ให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของ ท.และจะโอนที่ดินนั้นให้โจทก์เมื่อ ท.มรณะไปแล้ว ต่อมา ท. มรณะ จำเลยไม่จัดการโอนที่ดินให้โจทก์ ๆ จึงขอให้ศาลเรียกโฉนดจากจำเลยและโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ
จำเลยกลับฟ้องโจทก์เป็นอีกสำนวนหนึ่งว่า ท.ได้โอนที่ดินรายพิพาทให้แก่โจทก์โดยเด็ดขาดแล้ว จึงขอให้ศาลสั่งให้โจทก์คืนหนังสือทรัสต์แลหนังสือต่าง ๆ ให้จำเลย
ศาลชั้นต้นเห็นว่าแม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์อ้างว่า ท.ต้องการให้จำเลยที่ 3 ยึดถือที่ดินไว้เป็นทรัสต์ การยกที่ดินให้โจทก์ ในการตั้งทรัสต์ตามแบบต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน แลเห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือทรัสต์ขึ้นภายหลังว่าให้จำเลยที่ 3 ถือที่ดินไว้เพื่อประโยชน์แก่โจทก์นั้นต้องทำเป็นหนังสือแลจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 525 ประกอบด้วยมาตรา456 จึงจะสมบูรณ์ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์แลให้โจทก์คืนหนังสือทรัสต์รายพิพาทให้แก่จำเลย
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้นแลพิพากษายืนตาม
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์นำสืบได้ว่า ท.โอนทรัพย์รายพิพาทให้จำเลยที่ 3 เพื่อถือไว้ให้แก่โจทก์ แลอ้างหนังสือที่จำเลยที่ 2 ได้ทำขึ้นให้จำเลยที่ 3 ถือที่ดินไว้แทนโจทก์แลกล่าวว่าจำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาจำเลยที่ 3 จะมีอำนาจตั้งทรัสต์แทนบุตร์เอาทรัพย์ของบุตร์ไปยกให้ผู้อื่นโดยเสน่หาได้หรือไม่กับว่าการตั้งทรัสต์ตามกฎหมายไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยฎีกาได้แต่ฉะเพาะปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ว่า ท. ได้โอนที่ดินให้จำเลยที่ 3 ในประเภทให้โดยเสน่หาแล้ว ส่วนข้อที่จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจ ยกทรัพย์ของบุตร์ไปยกให้แก่ผู้อื่นหรือไม่ เห็นว่าไม่เป็นประเด็นแห่งข้อวินิจฉัยคดี เพราะโจทก์ไม่ได้ตั้งข้ออ้างในฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ตั้งทรัสต์ให้โจทก์ด้วยเจตนาของตนตามลำพัง แลเห็นว่าเมื่อกรรมสิทธิตกเป็นของจำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาดแล้ว การที่ ท. กลับใจใหม่จึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงความมีผลหรือไม่มีผลแลหนังสือจำเลยที่ 2 ทำขึ้นภายหลัง โจทก์ไม่มีทางชนะคดี จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share