คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 941/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้ามรดกทำพินัยกรรมมีข้อกำหนดว่า หากข้าพเจ้าถึงแก่กรรมทรัพย์มรดกทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้หรือจะเกิดมีขึ้นในอนาคต ให้ ส. เป็นผู้จัดการมรดกและรวบรวมเอาจัดการศพและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ข้าพเจ้าตามสมควร ส่วนที่เหลือนอกนั้นให้จัดการแบ่งปันแก่หลานๆ ของข้าพเจ้า นั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้ามรดกไม่มีลูก และเจ้ามรดกมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน คือ ป. ผ. และ ท. โดยเจ้ามรดกเป็นคนสุดท้อง ฉะนั้น หลานตามข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงหมายถึงลูกของพี่ของเจ้ามรดกดังกล่าวที่มีชีวิตอยู่ทุกคน อันเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งอาจทราบตัวแน่นอนได้ เป็นผู้รับพินัยกรรม ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนางเล็ก รอดประดิษฐ์นางเล็ก รอดประดิษฐ์ ถึงแก่กรรมโดยไม่ปรากฏว่าได้ทำพินัยกรรมไว้ต่อมาโจทก์ทราบว่าศาลแพ่งได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคดีหมายเลขแดงที่ 5203/2512 โดยจำเลยอ้างว่านางเล็ก รอดประดิษฐ์ได้ทำพินัยกรรมไว้ และตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก โจทก์ขอปฏิเสธการมีอยู่ ไม่รับรองความสมบูรณ์ และไม่รับรองความถูกต้องของสำเนาพินัยกรรมที่จำเลยยื่นต่อศาล และถ้าจำเลยพิสูจน์ได้ว่าสำเนาพินัยกรรมดังกล่าวถูกต้อง ข้อกำหนดพินัยกรรมตอนที่ว่า “ส่วนที่เหลือนอกนั้นให้จัดการแบ่งปันแก่หลาน ๆ ของข้าพเจ้า” เป็นข้อกำหนดที่ไม่อาจทราบตัวผู้รับมรดกได้แน่นอน ตกเป็นโมฆะ และข้อกำหนดที่ว่า “ส่วนจะตกได้แก่ผู้ใดเท่าใด สุดแต่นางสุดจิตต์ ภูมิจิตร จะพิจารณาเห็นสมควร” ก็เป็นโมฆะ ขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งเงินสดให้โจทก์ 270,000 บาท และโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้รับมรดกในโฉนดที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างตามฟ้อง กับมอบเครื่องประดับจำพวกสร้อย แหวน และเครื่องประดับบ้านของนางเล็ก รอดประดิษฐ์ให้โจทก์

จำเลยให้การว่า นางเล็ก รอดประดิษฐ์ ทำพินัยกรรมไว้ตามสำเนาพินัยกรรมท้ายฟ้อง ข้อกำหนดพินัยกรรมไม่เป็นโมฆะ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้น 3 เดือนนับแต่วันโจทก์ทราบ หรือควรจะทราบข้อความในพินัยกรรมแล้ว จึงขาดอายุความ และจำเลยได้จัดการแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้มีส่วนได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมไปตามส่วนเท่า ๆ กันก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยจึงไม่มีสิทธิหรืออำนาจหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้แบ่งทรัพย์มรดกให้โจทก์อีก ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นางเล็ก รอดประดิษฐ์ ได้ทำพินัยกรรมไว้จริง ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ว่ายกมรดกให้หลาน ๆ หาเป็นโมฆะไม่ ส่วนข้อกำหนดเรื่องส่วนแบ่งจะตกได้แก่ผู้ใดเท่าใด สุดแท้แต่นางสุดจิตร ภูมิจิตร จะเห็นสมควรนั้น เป็นโมฆะ ถือเท่ากับว่าไม่มีข้อกำหนดอยู่ เมื่อนางเล็ก รอดประดิษฐ์ ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่หลาน โจทก์ก็เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1608พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ให้แบ่งทรัพย์แก่หลาน ๆ นั้น ไม่อาจทราบได้แน่นอนว่าผู้รับมรดกคือผู้ใด จึงตกเป็นโมฆะ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อกำหนดในพินัยกรรมของผู้ตายมีว่า “ฯลฯ หากข้าพเจ้าถึงแก่กรรมลงเมื่อใด ข้าพเจ้าขอมอบหมายแต่งตั้งให้นางสุดจิตต์ ภูมิจิตร เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว โดยทรัพย์มรดกทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะนี้หรือจะมีขึ้นในอนาคต ฯลฯให้นางสุดจิตต์ ภูมิจิตร เป็นผู้รวบรวมเอาจัดการศพและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ข้าพเจ้าตามสมควร ส่วนที่เหลือนอกนั้นให้จัดการแบ่งปันแก่หลาน ๆ ของข้าพเจ้า ส่วนจะตกได้แก่ผู้ใดเท่าใด สุดแท้แต่นางสุดจิตต์ ภูมิจิตร จะพิจารณาเห็นสมควร ฯลฯ” คดีมีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะข้อกำหนดที่ว่า “ส่วนที่เหลือนอกนั้นให้จัดการแบ่งปันแก่หลาน ๆ ของข้าพเจ้า” เป็นโมฆะหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางเล็ก รอดประดิษฐ์ เจ้ามรดกไม่มีลูก และนางเล็กรอดประดิษฐ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 3 คน คือหลวงประกอบวรรณกิจ นางผิว กัณหวนิช และนางทองศุข ศรีสาครโดยนางเล็ก รอดประดิษฐ์ เป็นคนสุดท้อง ฉะนั้น หลานตามข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงหมายถึงลูกของพี่ของนางเล็ก รอดประดิษฐ์ ดังกล่าวที่มีชีวิตอยู่ทุกคน อันเป็นการกำหนดบุคคลซึ่งอาจทราบตัวแน่นอนได้ข้อกำหนดในพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ

พิพากษายืน

Share