แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติในเรื่องริบทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 หรือ มาตรา 33 นั้น มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญ จะต่างกันก็แต่ว่า ตามมาตรา 32 ศาลจะต้องริบเสียทั้งสิ้น ส่วนมาตรา 33 ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 33วรรคท้ายเท่านั้น ที่จะสั่งริบไม่ได้
ดังนั้น ในคดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกมีปืนและสายไฟฟ้าติดตัวร่วมกันปล้นทรัพย์ โดยใช้สายไฟฟ้ารัดคอเจ้าทรัพย์ แม้ศาลจะวินิจฉัยว่า จำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสายไฟฟ้าของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งใช้ในการกระทำผิดแล้วก็ย่อมริบได้ เพราะอยู่ในดุลพินิจของศาล ตามมาตรา 33(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2516)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 2 คน มีปืนและสายไฟฟ้าติดตัวร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้สายไฟฟ้ารัดคอ และชกต่อย กับใช้ปืนยิงนายบุญสระอุบล แต่ไม่ระเบิดเจ้าพนักงานยึดได้สายไฟฟ้า 1 เส้นในที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 4,83 ริบของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่คืนแก่เจ้าทรัพย์ 605 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรค 2, 83 ให้จำคุก 15 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี ริบสายไฟฟ้าให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 605 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ส่วนสายไฟฟ้าของกลางฟังได้ว่าเป็นของคนร้ายใช้ในการกระทำผิด จึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยและวินิจฉัยว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาริบ จะเป็นการชอบหรือไม่นั้นศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แม้ศาลจะวินิจฉัยว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสายไฟฟ้าของกลางเป็นทรัพย์ซึ่งใช้ในการกระทำผิด ก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งริบในคดีนี้ได้ เพราะบทบัญญัติในเรื่องริบทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 หรือมาตรา 33 มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญ จะต่างกันก็แต่ว่าตามมาตรา 32 ศาลจะต้องริบเสียทั้งสิ้น ส่วนมาตรา 33 ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 33 วรรคท้าย เท่านั้น ที่จะสั่งริบไม่ได้
พิพากษายืน