คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7730/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) ที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนมิใช่ฟ้องเรียกในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 การเรียกร้องในกรณีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
เหตุที่กระทรวงการคลังและโจทก์มีระเบียบให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้จากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานก็เพื่อบรรเทาภาระที่จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้หารือไปยังกรมสรรพากรแล้วก็ได้รับคำยืนยันว่าจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าว หากจำเลยไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินภาษีเงินได้จำนวนนี้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ลักษณะการจ่ายเงินเช่นนี้มิใช่เพื่อจูงใจให้จำเลยลาออกเพราะจำเลยมีผลประโยชน์ในส่วนอื่นที่จะได้รับจากการลาออกอยู่แล้ว เงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้จำเลยกับเงินภาษีเงินได้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรคืนให้จำเลยจึงเป็นเงินประเภทเดียวกันซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้ง จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถาม มิใช่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากก่อนทวงถามยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงิน 1,553,763.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,382,216.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยสละประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อเท็จจริงยุติตามที่คู่ความรับกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า จำเลยเคยเป็นพนักงานของโจทก์ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้บริหารส่วน กลุ่มตรวจสอบพิเศษ ฝ่ายตรวจสอบ 1 สายกำกับสถาบันการเงิน และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ปี 2544 โจทก์เคยจัดให้มีโครงการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกันสำหรับปี 2545 และ 2546 หลังจากนั้นคณะกรรมการโจทก์โดยความเห็นชอบในที่ประชุมว่าควรมีโครงการดังกล่าวในปี 2550 จำเลยมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดในโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 จำเลยจึงยื่นใบลาออกจากงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 โจทก์อนุญาตตามที่ขอมีผลให้จำเลยพ้นจากตำแหน่งหน้าที่พนักงานของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ต่อมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ได้จ่ายเงินประเดิม เงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์เงินประเดิม ผลประโยชน์เงินสะสมและผลประโยชน์เงินสมทบ รวมเป็นเงิน 11,615,720.13 บาท ให้แก่จำเลย โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด คำนวณภาษี หัก ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของเงินกองทุนดังกล่าวและนำส่งกรมสรรพากรเป็นเงิน 1,382,216.99 บาท ซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรก คงเหลือเงินหลังหักภาษีจำนวนเงิน 10,233,503.14 บาท โจทก์จ่ายเงินภาษีเงินได้ทอดแรกจากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่จำเลย 1,382,216.99 บาท กับเงินเพิ่มพิเศษและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามโครงการ 3,777,520 บาท ตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) รวมเป็นเงินทั้งหมดที่จำเลยได้รับในปี 2550 จำนวน 15,206,531.52 บาท หักค่าใช้จ่ายตามประมวลรัษฎากร 7,715,265.76 บาท คงเหลือเงินได้พึงประเมิน 7,491,265.76 บาท คิดเป็นภาษีทั้งสิ้น 2,336,768.33 บาท จำเลยถูกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว หักภาษีนำส่งกรมสรรพากรแล้ว 1,382,216.99 บาท คงเหลือภาษีที่จำเลยต้องชำระอีก 954,551.34 บาท โจทก์หักภาษีส่วนที่จำเลยต้องชำระอีกดังกล่าวส่งกรมสรรพากร คงเหลือเงินที่จำเลยได้รับ 4,205,185.65 บาท โจทก์จ่ายให้จำเลยโดยโอนเข้าบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ของจำเลยแล้ว จำเลยได้ยื่นฟ้องกรมสรรพากรต่อศาลภาษีอากรกลางให้คืนเงินภาษีจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ซึ่งได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9543/2555 โดยมีคำวินิจฉัยว่าถือได้ว่าจำเลย (โจทก์ในคดีดังกล่าว) ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อขณะออกจากงานจำเลยมีอายุ 57 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่จำเลยได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้กรมสรรพากรคืนเงิน 1,382,216.99 บาท ให้จำเลย เหตุที่โจทก์จ่ายเงินภาษีเงินได้ทอดแรกของเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้แก่จำเลยนั้นเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2549 โจทก์มีหนังสือหารือไปยังกรมสรรพากรว่าพนักงานที่ออกจากงานก่อนเกษียณอายุตามโครงการออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกันได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินดังกล่าวหรือไม่ กรมสรรพากรแจ้งว่าไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อมาโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรก 1,382,216.99 บาท พร้อมดอกเบี้ย ไปยังจำเลย โดยให้ชำระคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2556 ครบกำหนดวันที่ 1 กันยายน 2556 จำเลยเพิกเฉย แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เงินที่จำเลยฟ้องเรียกคืนจากกรมสรรพากรคือเงินที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ได้คำนวณเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากร 1,382,216.99 บาท ส่วนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยนั้นเป็นผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อเป็นการจูงใจให้พนักงานเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กร ถือเป็นเงินได้ของจำเลยซึ่งโจทก์ได้คำนวณเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก่อนโอนเข้าบัญชีของจำเลย ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยตามฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยที่ตั้งประเด็นมาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเรียกคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกในฐานติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ มิใช่ฐานลาภมิควรได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ และจำเลยแก้อุทธรณ์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงิน 1,382,216.99 บาท โดยอาศัยระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย และเป็นการจ่ายเงินให้จำเลยตามอำเภอใจและเด็ดขาดไปแล้วซึ่งรู้ว่าจ่ายให้ใคร เท่าไร และเมื่อไร มิใช่เรื่องการเรียกทรัพย์คืนแต่เป็นเรื่องลาภมิควรได้ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 เมื่อโจทก์ทราบเรื่องว่าเงินที่จำเลยได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นการเสียภาษีหรือไม่เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 ต้องฟ้องภายในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 หรืออย่างช้าควรใช้สิทธินับแต่วันที่จำเลยนำคำสั่งเรียกพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่โจทก์เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ต้องฟ้องภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2551 แต่โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2557 คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า เงิน 1,382,216.99 บาท เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 27/2550 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2550 ข้อ 4.5 (2) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ดังที่จำเลยอ้าง การเรียกร้องเงินที่โจทก์จ่ายไปในกรณีนี้เป็นการฟ้องเรียกเงินคืนที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่กระทรวงการคลังและโจทก์มีระเบียบให้โจทก์จ่ายภาษีเงินได้จากเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานก็เพื่อบรรเทาภาระที่จำเลยต้องเสียภาษีเงินได้ส่วนนี้ ประกอบกับโจทก์ได้หารือไปยังกรมสรรพากรแล้วก็ได้รับคำยืนยันว่าจำเลยไม่ได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวหากจำเลยไม่ต้องรับภาระจ่ายภาษีเงินได้จำนวนนี้ก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้แก่จำเลย ลักษณะการจ่ายเงินเช่นนี้มิใช่เพื่อจูงใจให้จำเลยลาออกเพราะจำเลยมีผลประโยชน์ในส่วนอื่นที่จะได้รับจากการลาออกถึงสิบห้าล้านบาทเศษอยู่แล้ว เงินภาษีเงินได้ทอดแรกที่โจทก์จ่ายให้จำเลยกับเงินภาษีเงินได้ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้กรมสรรพากรคืนให้จำเลยจึงเป็นเงินประเภทเดียวกันซึ่งจำเลยไม่มีสิทธิได้รับซ้ำซ้อนกันถึงสองครั้ง จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีเงินได้ทอดแรกให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยโจทก์มีสิทธิคิดตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดทวงถาม มิใช่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามที่โจทก์ขอ เนื่องจากก่อนทวงถามยังไม่แน่ชัดว่าโจทก์ประสงค์จะเรียกเงินจำนวนนี้คืนจากจำเลยหรือไม่ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 1,382,216.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share