คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6390/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวก ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้บ้านเลขที่ 137/2 ของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ได้รับความเสียหายและจำเลยที่ 1 กับพวกนำทรัพย์สินของโจทก์ไป ประเด็นในคดีก่อนจึงมีว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ส่วนคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนกับคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันและประเด็นคนละอย่างต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ทั้งโจทก์มิใช่คู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่นางผูกมารดาโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 173/2534 แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ซึ่งสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็หาได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามฟ้องภายหลังไม่ เมื่อโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนดังกล่าวจึงไม่ผูกพันในผลแห่งคดี ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้อง คดีจึงต้องมีการฟังข้อเท็จจริงกันต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนแล้วพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนจึงไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง สมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ประกอบมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องต่อไป ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนผู้จัดการมรดกลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 และรายการจดทะเบียนโอนขายที่ดินลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2536 ระหว่างนายเกลี้ยงผู้โอน กับจำเลยที่ 1 ผู้รับโอน ให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาคร ให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนโอนที่ดินและส่งมอบใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์
ระหว่างพิจารณา จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1546/2542 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขแดงที่ 7129/2543 ของศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งคดีทั้งสองอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาหรือไม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1546/2542 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรื่องละเมิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 กับพวกบุกรุกเข้าไปรื้อถอนฝาบ้านและหลังคาบ้านเลขที่ 137/2 หมู่ที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 และคดีหมายเลขแดงที่ 7129/2543 ของศาลแพ่งธนบุรี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกเรื่องละเมิดโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 20 คน ได้ร่วมกันทำลายทรัพย์สินและรื้อบ้านของโจทก์เลขที่ 137/2 หมู่ที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 1137 ให้จำเลยที่ 1 กับพวกชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเรื่องที่ดินโดยอ้างว่าโจทก์ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 จนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งเป็นเรื่องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินและเพิกถอนการจดทะเบียนที่ดิน อันเป็นคนละเรื่องกับเรื่องละเมิด ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องนางผูกมารดาโจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 173/2534 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาให้นางผูกและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 137/2 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1138 ซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว นางผูกและบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ จำเลยที่ 1 จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านหลังดังกล่าว ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกว่าร่วมกันทำละเมิดทำให้บ้านของโจทก์เลขที่ 137/2 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ได้รับความเสียหายและเอาทรัพย์สินภายในบ้านไป ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1546/2542 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขแดงที่ 7129/2543 ของศาลแพ่งธนบุรี ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลแพ่งธนบุรีพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามลำดับ คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1546/2542 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขแดงที่ 7129/2543 ของศาลแพ่งธนบุรีหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้บ้านเลขที่ 137/2 หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ของโจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันนำทรัพย์สินของโจทก์ไป ประเด็นในคดีก่อนจึงมีว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ แม้โจทก์จะกล่าวอ้างมาในคำฟ้องคดีก่อนว่า บ้านเลขที่ 137/2 ปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ก็ไม่ทำให้มีความหมายเปลี่ยนประเด็นเป็นอย่างอื่น เนื่องจากจำเลยที่ 1 กับพวกให้การต่อสู้ว่า การรื้อถอนบ้านเลขที่ 137/2 เป็นการบังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 173/2534 ซึ่งพิพากษาให้นางผูกและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 137/2 ออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1138 ของจำเลยที่ 1 คดีจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ส่วนคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 1137 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 และขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนกับคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกัน และประเด็นคนละอย่างต่างกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1546/2542 ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขแดงที่ 7129/2543 ของศาลแพ่งธนบุรี ทั้งโจทก์มิใช่คู่ความในคดีที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่นางผูกมารดาโจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 173/2534 ของศาลชั้นต้น แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บทกฎหมายดังกล่าวก็หาได้มีผลเด็ดขาดเป็นการตัดสิทธิห้ามฟ้องภายหลังไม่ เมื่อโจทก์มิได้เป็นคู่ความในคดีก่อนดังกล่าว จึงไม่ผูกพันในผลแห่งคดีต้องห้ามมิให้ฟ้องร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น คดีจึงต้องมีการฟังข้อเท็จจริงกันต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน แล้วพิพากษายกฟ้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง สมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบมาตรา 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share